สังคม

หลายจังหวัดยังอ่วม! จ.ยโสธร เฝ้าระวังน้ำชีเพิ่มสูงรอบที่ 3 ชาวบ้านเตรียมพร้อมอพยพทันที ถ้าปริมาณน้ำเพิ่มสูง

โดย parichat_p

16 ต.ค. 2566

44 views

ฝนที่ตกลงมาเพิ่ม ทำให้เขื่อนหลักเเละอ่างเก็บน้ำหลายเเห่ง จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำ ส่งผลทำให้ลุ่มน้ำชีมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำติดริมน้ำหลายชุมชนได้รับผลกระทบ ขณะที่กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลำน้ำมูล จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้


ยโสธร มีรายงานปริมาณน้ำชีได้กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก เป็นรอบที่ 3 เเล้ว หลังจาก"เขื่อนอุบลรัตน์" และ"เขื่อนลำปาว"เพิ่มการระบายน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำชีไหลบ่าท่วมชุมชนบ้านแจ้งน้อย ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ชาวบ้านต้องขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูงอีกรอบ พร้อมเฝ้าระวังสังเกตระดับน้ำตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมพร้อมอพยพทันที ถ้าปริมาณน้ำเพิ่มสูงมากกว่านี้


จากการสำรวจล่าสุด พบว่าขณะนี้ มีบ้านเรือนของชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว อย่างน้อย 10 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวันเฉลี่ยวันละ 8 เซนติเมตร เพราะยังมีปริมาณน้ำเหนือไหลลงมาเพิ่ม และในพื้นที่ก็มีน้ำท่วมขังอยู่ก่อนแล้ว


ที่อุบลราชธานี แม่น้ำมูลที่ไหลผ่านเขตตัวเมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ยังส่งผลกระทบกับชุมชนลุ่มต่ำติดริมน้ำ หลายชุมชนยังมีน้ำท่วมสูง เนื่องจากพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เป็นจุดรับน้ำจากเเม่น้ำหลายสายไหลมารวมกัน จึงทำให้ประชาชนในที่ลุ่มต่ำ ทั้งในเขตอำเภอเมือง เเละวารินชำราบ ยังใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ โดยเฉพาะที่ชุมชนท่าบ้งมั่ง เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ แม่น้ำมูลเอ่อท่วมบ้านเรือนได้รับความเสียหายมากกว่า 50 หลังคาเรือน


เช่นเดียวกับวัดเสนาวงศ์ ในชุมชนท่าบ้งมั่ง ก็ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 40 เซนติเมตร พระสงฆ์ในวัด ต้องประกาศงดรับกิจนิมนต์ชั่วคราวจนกว่าน้ำจะลด


สถานการณ์ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำมูล เกินระดับตลิ่งอยู่ที่ 7 เมตร 84 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับเตือนภัย 84 เซนติเมตร และคาดว่าน้ำในพื้นที่ จะยังสูงไปอีกระยะหนึ่ง เพราะต้องรอมวลน้ำจากแม่น้ำชี จากทางร้อยเอ็ดและยโสธร ไหลลงมาสมทบ


กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำในลำน้ำตอนบน เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย มีการยกบานประตูระบายพ้นน้ำทั้ง 6 เขื่อน


ส่วนเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 2,066 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 104% ของความจุอ่าง กรมชลประทานได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ขณะที่ปริมาณน้ำในลำน้ำยัง มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำใน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มลดลง สำหรับลุ่มน้ำชีตอนล่างบริเวณ จ.ยโสธร ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งที่ อ.เมืองยโสธร และ อ.มหาชนะชัย แนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้น


ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำมูล ปัจจุบันเขื่อนระบายน้ำมูล 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนพิมาย เขื่อนชุมพวง เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ช่วยหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู่ลำน้ำมูลตอนล่าง โดยเปิดบานระบายน้ำตามความเหมาะสม กับสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชี ซึ่งจะลดผลกระทบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี


ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ระดับน้ำจะกลับสู่ตลิ่งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ติดตั้งเครื่องจักรเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมกับเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ


สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศเเละภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เปิดเผยภาพ มวลน้ำท่วมจากภาพถ่ายดาวเทียม ของวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำท่วมที่ถูกผันเข้าพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี แบ่งออกเป็น 3 ทุ่งสำคัญ ได้แก่ ทุ่งผักไห่ 100,094 ไร่ ,ทุ่งป่าโมก 19,884 ไร่ และ ทุ่งบางบาล 9,921 ไร่ รวมทั้งสิ้น 129,899 ไร่ หรือคิดเป็น 54.8% ของ 3 พื้นที่ทุ่งรับน้ำที่สามารถรับน้ำได้

คุณอาจสนใจ

Related News