ไขปริศนา SEA คืออะไร? ทำไมชาวบ้าน “จะนะ” ต้องมาทวงสัญญา

เลือกตั้งและการเมือง

ไขปริศนา SEA คืออะไร? ทำไมชาวบ้าน “จะนะ” ต้องมาทวงสัญญา

โดย thichaphat_d

7 ธ.ค. 2564

1.7K views

เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. 2564 ตำรวจ คฝ.บุกสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านจะนะ จ.สงขลา ที่เดินทางมาปักหลักชุมนุมเพื่อมาทวง ‘สัญญา SEA’ จากรัฐบาลเรื่อง ‘โครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ จังหวัดสงขลา’


โดย ต้นเหตุของเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางมาชุมนุมค้างคืน ติดแนวตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรม ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต



ภาพ : Khairiyah Rahmanyah


ซึ่งตอนนั้น ผู้ชุมนุมมีสาระสำคัญ 2 ข้อ คือเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่หากต้องดำเนินโครงการต้องเริ่มต้นกระบวนการศึกษาผลกระทบใหม่หมด


และเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาพบชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อแจ้งผลการประชุมครม. ว่า เบื้องต้นมีการรับหลักการ และตั้งอนุกรรมการฯ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาความเดือดร้อน


โดยจะมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนและแก้ปัญหา ซึ่งในการประชุมมีการสั่งชะลอการก่อสร้างจะนะเมืองใหม่เป็นนิคมฯ และการทำ EIA ในวันที่ 6 ม.ค. 2564 ก็เลื่อนไปก่อน และจะทำให้ขั้นตอนอื่นก็ต้องเลื่อนตามไปด้วย


ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้ประกาศว่า ระหว่างนี้ก็จะเปิดโอกาสให้ทางรัฐบาลได้ทำงานก่อน แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น จะมีการกลับขึ้นมาเรียกร้องอีกครั้ง


พร้อมกับฝากสื่อมวลชนให้ไปตรวจสอบนักการเมืองที่ได้ผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ที่อาจไปกดดันร.อ.ธรรมนัส เนื่องจากเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้



ภาพ : Khairiyah Rahmanyah


และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ทีมงานรัฐบาลได้ลงพื้นที่ไปยังอำเภอจะนะ เพื่อติดตามสภาพปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาล ซึ่งจากการลงพื้นที่วันนั้น ได้มีข้อเสนอ ดังนี้


ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และมีองค์ประกอบของประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย


ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบ


จัดให้มีการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในโครงการนี้ โดยมีหลักการประเมินคือ ประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นที่ศักยภาพของระบบนิเวศ การประเมินจะต้องยึดถือหลักการว่าจะพัฒนาพื้นที่สงขลาบนฐานศักยภาพของทรัพยากรอย่างไร และการประเมินยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตของคนท้องถิ่นเป็นหลัก


ต้องตรวจสอบความผิดปกติของโครงการฯ 3 เรื่อง คือ

1. การออกเอกสารสิทธิการซื้อขายที่ดินในพื้นที่โครงการฯ

2. ตรวจสอบกระบวนการการใช้อำนาจหน้าที่ของศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่มีข้อบกพร่องต่อระเบียบปฏิบัติในโครงการนี้ในมิติต่างๆ

3. ตรวจสอบกระบวนการแก้ไขผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าเป็นไปตามระเบียบกฎหมายผังเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่


เวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี ที่ รัฐบาลยังไม่ได้ทำตามสัญญาที่ประกาศไว้ ทางกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จึงได้เดินทางมากทม. เพื่อทวงสัญญา แต่ถูกคฝ. เข้าสลายการชุมนุมตามที่เป็นข่าว เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา



ภาพ : Khairiyah Rahmanyah


ว่าแต่… SEA มันคืออะไรกันแน่นะ เราจะมาอธิบายให้ฟังกันแบบง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก


ก่อนอื่นเลย เรามาดูกันก่อนว่า SEA ย่อมาจากคำว่าอะไร SEA นั้น ย่อมาจากคำว่า ‘Strategic Environmental Assessment’ แปลว่า ‘การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์’


ซึ่ง SEA นั้น มีความหมายที่แตกต่างออกไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานภาพการนำไปใช้ การตีความให้ครอบคลุมสภาพบังคับใช้ในแต่ละประเทศ


ส่วนในไทยเรานั้น มีความหมาย ดังนี้ กระบวนการที่เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งต้องนำผลไปใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน


ความจริงแล้ว ประเทศไทยมีการนำ SEA มาใช้ในการจัดทำและทบทวนแผนและแผนงานมาตั้งแต่ปี 2546 โดยเริ่มมาจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มทบทวนและปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ เสนอแนะให้เริ่มพิจารณานำกระบวนการ SEA มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม


แต่เอ๊ะ…ทำไมเราถึงไม่ค่อยได้ยินชื่อ SEA กันนะ นั่นเป็นเพราะ SEA เนี่ย ไม่ได้มีข้อกำหนด หรือนโยบายที่เป็นรูปธรรม รวมถึงไม่ได้นำไปปฎิบัติเท่าที่ควร


ดังนั้น ทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้จัดทำ “แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับ ยุทธศาสตร์ ฉบับปี พ.ศ. 2563” เพื่อพัฒนา และปรับปรุงแนวทาง SEA ให้มีความถูกต้อง เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน และปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และการพัฒนา SEA ในระดับสากล


แล้ว SEA นั้น นำไปใช้ตอนไหน หรือนำไปใช้อย่างไร


เอาแบบง่ายๆ กระบวนการ SEA เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบูรณาการประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของแผนหรือแผนงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


เห็นไหมว่ามันครอบคลุมหลายมิติ ดังนั้น SEA จึงมีขอบเขตและระดับการใช้ เพื่อสนับสนุนการวางแผนในระดับนโยบาย (Policy) แผน (Plan) และแผนงาน (Program) ของการพัฒนา เป็นกรอบระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาในระดับสูงกว่า กว้างกว่า และมีความเชื่อมโยงกับการพิจารณาตัดสินใจการดำเนินงานในระยะยาว


มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า อย่างนี้มันก็กว้างไปน่ะสิ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร


ต้องตอบอย่างนี้ การทำ SEA ไม่ได้ทำเพื่อโครงการใดโครงการหนึ่ง (เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ) แบบตรงๆ แต่เป็นภาพรวมกว้างๆ เพื่อที่เราจะได้ใช้เครื่องมืออื่นๆ ในการลงรายละเอียด เช่น การใช้ EIA หรือการประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ



ภาพ : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ


แล้ว EIA คืออะไร


EIA นั้นย่อมาจาก Environmental Impact Assessment (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง


โดย EIA จะทำการศึกษาครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน คือ

1. ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมี การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

2. ทรัพยากรชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น

3. คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน

4. คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม


กลับมาเข้าเรื่องกันต่อ ในเมื่อ SEA คือ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ มันก็ต้องมี ‘หลักการ’ ในการประเมิน ซึ่งบ้านเราก็มีหลักการ 9 ข้อ ดังนี้


1. มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน มองอนาคตของการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแบบสะสมในอนาคต เพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดผลกระทบ

2. บูรณาการ SEA เข้ากับกระบวนการวางแผนหรือแผนงานพัฒนา รวมทั้งการตัดสินใจระดับ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบูรณาการประเด็นการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย สร้างความน่าเชื่อถือในการสื่อสารต่อสาธารณะ ส่งเสริมการเปิดเผยต่อสาธารณะให้มีความโปร่งใส ตลอดทุกขั้นตอนของกระบวนการ และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

4. มีการวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลกระทบ ผลกระทบสะสม ความเสี่ยงของทางเลือกการพัฒนา บ่งชี้โอกาสและข้อจำกัดของทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งให้ เหตุผลในการประเมินทางเลือกต่าง ๆ เปรียบเทียบกัน

5. มีความยืดหยุ่น สามารถทบทวนปรับปรุง และปรับให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ได้

6. มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากแรงกดดันจากสิ่งรบกวนภายนอก เพื่อไม่ให้เกิด ความเอนเอียง

7. ดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ SEA โดยใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

8. มีการควบคุมและประกันคุณภาพอย่างมีประสิทธิผล โดยทบทวน ติดตามและตรวจสอบผล ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนหรือแผนงาน

9. ส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจของผู้จัดทำ SEA และผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินการตามแผน หรือแผนงาน


มาถึงหัวข้อสุดท้ายกันแล้ว ประโยชน์ของ SEA นั้น มี อยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นคือ


1. ช่วยบูรณาการการวางแผนพัฒนา
โดยบูรณาการครอบคลุมทั้ง 3 ด้านการพัฒนา ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยง ผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแผนหรือแผนงานที่ไม่ยั่งยืน ที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียหรือเสื่อมสภาพ ของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถกลับคืนได้ หรือ อาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณ ในการพัฒนาประเทศ

2. ช่วยให้การวางแผนมีความเชื่อมโยงและพิจารณาไปถึงอนาคตข้างหน้า มีผลให้ต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิม และในอนาคต ไปสู่วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวร่วมกัน ซึ่งสามารถสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และยังช่วยให้การบริหารจัดการด้านการพัฒนาประเทศดีขึ้น ไม่หยุดชะงัก เกิดการวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น สามารถหาแนวทางแก้ไขก่อนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจได้

3. ช่วยประสานประโยชน์ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เนื่องจาก SEA จะช่วยเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในแผน หรือแผนงานอย่างเหมาะสมและโปร่งใส สามารถสนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานตามแผนที่เหมาะสม อีกทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงการสิ้นเปลืองงบประมาณ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง การต่อต้าน ความล่าช้าของแผนหรือแผนงาน


ความจริงแล้ว SEA นั้น มีความละเอียดมากกว่าที่ได้กล่าวมา แต่เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเข้าใจแบบคร่าวๆ เพื่อรับรู้ข่าวสารเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการทำสัญญา SEA ครับ



คุณอาจสนใจ

Related News