ไทยเผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการหวั่นแบกรับภาระไม่ไหว

สังคม

ไทยเผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการหวั่นแบกรับภาระไม่ไหว

โดย panisa_p

27 ต.ค. 2564

53 views

สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานนับว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งในช่วงนี้จะพบว่ามีการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ แรงงานเหล่านี้จะบอกว่าจะมาทำงานที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่แรงงานต่างด้าวรู้จักกันดีคือ มหาชัย


จากการที่สอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่ถ้าแรงงานต่างด้าวจะมาทำงานที่ประเทศไทยก็จะบอกต่อ ๆ กันว่าต้องไปที่ มหาชัย เพราะที่แห่งนี้มีพี่น้องแรงงานต่างด้าวอาศัยทำงานอยู่มากและเป็นเมืองประมงดงโรงงาน ย่อมต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งบ้างคนก็มา เพราะมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ บางคนก็มา เพราะนายหน้าจัดหา ส่วนบางรายก็มาตายเอาดาบหน้า เพียงขอให้ได้มาให้ถึงมหาชัย


นายวันชัย สาครมณีรัตน์ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีสถานประกอบการกว่า 1 พันแห่ง และมีความต้องการแรงงานมากกว่า 41,000 คน ซึ่งทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ได้พยายามประสานงานไปยังกรมการจัดหางานในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเคลื่อนย้ายแรงงาน เข้ามาทดแทนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาที่สะสมมานานของจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ประกอบการ




เบื้องต้นทางกรมการจัดหางานได้มีโครงการจ้างคนไทยมาทดแทนแรงงานต่างด้าวที่เกิดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นที่ทราบกันดีว่า แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบบางส่วนได้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนา ทางกรมการจัดหางานได้พยายามติดต่อแรงงานไทยกลุ่มนี้ให้กลับมาทำงานยังสถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ก็ได้รับการตอบกลับมาเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น


ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน 420,000 คน ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครก็ส่งผลกระทบต่อการผลิต ประกอบกับทางรัฐบาลมีนโยบาย โดยทางรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน มีความพยายามช่วยเหลือกลุ่มของผู้ประกอบการในทุกช่องทาง เช่น การเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวนำมาเข้าระบบ ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นการป้องกันแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ไปแพร่เชื้อฯ




ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ จะดำเนินการเป็นระยะเวลา 30 วัน โดยทางเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะเข้าไปสำรวจตามสถานประกอบการต่าง ๆ หลังจากมีการตรวจพบแรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ก็จะดำเนินการถ่ายรูปและทำประวัติ และให้มายื่นของรับใบอนุญาตทำงาน และเข้าสู่ขบวนการตรวจโรค ทำประกันสุขภาพ และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลต่อไป


ในส่วนของผู้ประกอบการเรือประมง นางจันทิมา เขียวไข่กา อายุ 53 ปี เจ้าของแพปลา พรพีรพัฒน์ เล่าว่า เนื่องจากปัจจุบันขาดแคลนแรงงานจึงต้องนำลูกน้องของเรือแต่ละลำมารวมกัน ตนมีเรือประมงอยู่ 5 ลำ แต่พอนำลูกน้องมารวมกันแล้วสามารถออกเรือได้เพียง 3 ลำเท่านั้น อีก 2 ลำก็ต้องจอดไม่ได้ออกไปทำการประมง




ตนก็มีความเห็นใจลูกน้องเพราะแรงงานมีไม่เพียงพอ ทำให้ลูกน้องต้องเหนื่อยท้อกับการทำงาน ซึ่งแรงงานที่จะเข้ามาทำงานด้วยก็มีมาสมัครแต่ก็เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย ตนเองจึงอยากวอนรัฐบาลเปิดให้ทำเอกสารแรงงานที่จะเข้ามาทำงานกลุ่มนี้ด้วย เนื่องจากแรงงานที่เข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมายจึงไม่สามารถทำเอกสารได้ แรงงานบางรายที่เข้ามาสมัครงานก็รอเอกสารจากหน่วยงานไม่ไหว เพราะใช้เวลาในการทำนาน


เมื่อเรือไม่ได้ออกไปทำการประมงก็ทำให้แรงงานที่รอทำเอกสารย้ายไปทำงานในโรงงานแทน แรงงานก็จะกลายเป็นแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานจะต้องทำงานในเรือประมงเท่านั้น ไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ และแรงงานที่ผิดกฎหมายในเรือประมงมีความเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ง่ายกว่าการขึ้นไปทำงานในโรงงาน ซึ่งถ้าหากทางรัฐบาลเปิดให้ทำเอกสารทางผู้ประกอบการก็ยินดีที่จะทำให้ถูกกฎหมาย




ซึ่งเดิมตนเองเคยมีลูกน้องในเรือประมง 40 กว่าคน แต่ปัจจุบันมีลูกน้องเหลือเพียง 30 กว่าคนเท่านั้น เรือที่ต้องจอดทิ้ง 2 ลำ ก็เสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ จะนำไปซ่อมแซมปรับปรุงก็ไม่ไหว ถ้าหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ อาชีพประมงอาจจะล่มสลายได้ ถ้าหากมีเงินทุนแต่ไม่มีแรงงานก็ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้


ซึ่งปัญหาหลักก็คือปัญหาแรงงาน ตนอยากจะหาแรงงานมาเพิ่มก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะเอาแรงงานผิดกฎหมายมาลงเรือก็กลัวที่จะโดนเจ้าหน้าที่มาตรวจ จะโดนยึดใบประมงพาณิชย์ และทำการประมงไม่ได้อีก 5 ปี จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเปิดทำใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวด้วยเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

คุณอาจสนใจ

Related News