'สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์' เผยวิจัย ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุไทย ไม่เพียงพอดำรงชีพ ไร้หน่วยงานจัดการเป็นระบบ

สังคม

'สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์' เผยวิจัย ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุไทย ไม่เพียงพอดำรงชีพ ไร้หน่วยงานจัดการเป็นระบบ

โดย sujira_s

27 ต.ค. 2564

67 views

'สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์' เผยผลวิจัย ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุของไทย ไม่เพียงพอดำรงชีพ ไร้หน่วยงานจัดการเป็นระบบ ขาดวิสัยทัศน์แก้ปัญหา ควรปรับเปลี่ยนก่อนเข้ายุคสังคมสูงวัยเต็มตัว


เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดทำวิจัย 'ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ: ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน' เนื่องจากประเทศไทยก้าวสู้สังคมมสูงวัยอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี พ.ศ. 2563 เป็นร้อยละ 26 ในปี พ.ศ. 2583 (UN 2019) 


นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยในประเทศพบว่า ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุไทย ยังไม่เพียงพอต่อการยังชีพของผู้สูงวัยและไม่ยั่งยืน อีกทั้งยังพบปัญหา ขาดวิสัยทัศน์ร่วม ระบบหรือกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ดำเนินการแบบต่างคนต่างคิด โดยไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบมองภาพรวมแบบเป็นระบบ


โดยภายในงานวิจัย ได้แบ่งเป็น 4 หัวข้อได้ดังนี้ 


1. การออกแบบระบบการจัดการรายได้ยามชราของภาครัฐจำเป็นต้องคิดแบบบูรณาการ 


ผู้สูงอายุหนึ่งคนสามารถมีรายได้ยามชราภาพจากหลายระบบ การจะแก้ปัญหาเรื่องรายได้ผู้สูงอายุไม่เพียงพอจึงต้องเอาผู้สูงอายุเป็นตัวตั้งและมองที่รายได้รวมจากทุกระบบ ขณะที่ข้อเสนอที่ผ่านมามักจะมองแบบแยกส่วน เอาระบบหรือกองทุนเป็นตัวตั้ง และไม่ได้วิเคราะห์ว่าการปรับระบบ ก. จะส่งผลกระทบต่อระบบ ข. หรือไม่ หรือการสร้างระบบ ค. ขึ้นมาใหม่จะส่งผลกระทบทั้งระบบ ก. และระบบ ข. ที่มีอยู่อย่างไร


โดยก้าวแรกควรเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์ภาพใหญ่ ซึ่งมีกรอบความคิดครอบคลุมระบบทั้งหมด และมีอำนาจตัดสินใจว่า ระบบที่มีอยู่ของไทยควรจะปรับหรือเพิ่มตรงไหน เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ส่งเสริมเติมเต็ม ไม่ซ้ำซ้อน มีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม


ยกตัวอย่างเช่น กอช. และ ประกันสังคมมาตรา 40 ก็มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกจ้างนอกระบบเหมือนกัน เมื่อกองทุนหนึ่งปรับกฎเกณฑ์ ก็มักจะมีผลกระทบกับอีกกองทุนหนึ่ง หรือหากจะมีการจัดตั้งการออมภาคบังคับเพิ่มเติมสำหรับลูกจ้างในระบบ ก็ควรวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าต้องการให้ระบบนี้มาเสริมหรือทดแทนระบบประกันสังคมเดิมที่มีอยู่อย่างไร


2. สาเหตุของความไม่เพียงพอ ซึ่งมีอย่างน้อยสามประการ


2.1 ระบบรายได้ผู้สูงอายุของประเทศไทยทุกระบบ ไม่ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าผลตอบแทน เพดานเงินสมทบและเงินร่วมสมทบ การปรับตัวแปรเหล่านี้ให้เป็นมูลค่าจริง (Indexation) ถือเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นคุณลักษณะของระบบรายได้ยามชราภาพทั่วโลกที่ช่วยให้บำเหน็จบำนาญเพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยการปรับมูลค่ามักจะเป็นการผูกตัวแปรเหล่านี้เข้ากับอัตราเงินเฟ้อและอัตราค่าจ้างเฉลี่ยของประเทศ3


2.2 ระบบต่าง ๆ ของไทยยังไม่ได้คำนึงถึงการกระจายรายได้มากนัก แนวคิดเรื่องนี้จะชัดเจนในระบบของต่างประเทศ โดยเห็นได้จากสัดส่วนของเงินบำนาญรวมจากทุกระบบต่อเงินเดือนเฉลี่ย (replacement rate) ที่ลดลงเมื่อรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น 


2.3 ระบบหรือกองทุนต่าง ๆ เช่น ประกันสังคม และ กอช. ยังมีอายุไม่มากนัก สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนเหล่านี้ขึ้นกับระยะเวลาที่สมาชิกส่งเงินสมทบ ในอีก 20 ปีข้างหน้า สมาชิกส่วนหนึ่งของกองทุนเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม กองทุนเหล่านี้ออกแบบเสมือนว่าแรงงานในระบบจะอยู่ในระบบทั้งชีวิต และแรงงานนอกระบบจะอยู่นอกระบบทั้งชีวิต แรงงานจำนวนไม่น้อยมีการโยกย้ายระหว่างการเป็นลูกจ้างในระบบและนอกระบบ โดยสำหรับกลุ่มที่มีการย้ายข้ามระบบ หากระยะเวลาส่งสมทบของแต่ละระบบไม่ยาวนัก ก็มีแนวโน้มที่จะได้เพียงเงินบำเหน็จเท่านั้น ซึ่งเงินนี้ไม่น่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพในช่วงชีวิตที่เหลือ


ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนหรือระบบใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหา เพราะหากไม่ได้พิจารณาสามประเด็นข้างต้น ก็จะเป็นเพียงการผูกเงื่อนของปมปัญหาเดิมให้แก้ยากขึ้นเท่านั้น


3. ควรปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์อีกหลายข้อของระบบประกันสังคมภาคบังคับ เพื่อให้ตัวระบบมีความยั่งยืนทางการคลัง

มีความเป็นไปได้สูงที่ภายใน 30–40 ปีข้างหน้า เงินของกองทุนชราภาพของระบบประกันสังคมภาคบังคับจะหมดลง เนื่องจากผู้ประกันตนรุ่นหลังมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ระบบควรต้องค่อย ๆ ปรับเพิ่มอายุที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับบำนาญเต็มตัวสูตรบำนาญและอัตราสมทบควรจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของกองทุน นอกจากนี้ การคำนวณฐานรายได้เพื่อนำมาคิดเงินบำนาญ ควรใช้รายได้เฉลี่ยทั้งชีวิตการทำงาน (ปรับเป็นมูลค่าจริง) แทนการใช้รายได้เฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้าย สูตรปัจจุบันนั้นไม่ยุติธรรมสำหรับลูกจ้างกลุ่มที่มีรายได้ลดลงในช่วงท้าย


4. การปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยครัวเรือนสูงวัยที่ยากจนในรุ่นปัจจุบันได้ทันการณ์ที่สุด แต่อาจจะมีการพิจารณาว่าระดับที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต ระบบบำเหน็จบำนาญต่าง ๆ ที่มีอยู่และการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรเชื่อมโยงกัน เพื่อคัดกรองเงินช่วยเหลือให้ไปสู่เฉพาะผู้ที่ยังได้รับบำนาญไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น หากระบบประกันสังคมปรับกฎเกณฑ์ให้เงินบำนาญของผู้ประกันตนส่วนใหญ่สามารถเป็นหลักประกันรายได้ คนกลุ่มที่ได้รับบำนาญจากประกันสังคมในระดับที่สูงแล้ว ก็ควรจะได้เบี้ยยังชีพในระดับที่ต่ำลงมา รวมถึงรัฐอาจจะใช้วิธีสนับสนุนเบี้ยประกันให้คนกลุ่มรายได้ต่ำ เพื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิกของระบบประกันได้


อ่านบทความเพิ่มเติม : ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ: ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน


คุณอาจสนใจ