ส.ส.วิโรจน์ ชี้ อบจ.จุฬาฯ ยกเลิกขบวนพระเกี้ยว การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเรื่องปกติ

สังคม

ส.ส.วิโรจน์ ชี้ อบจ.จุฬาฯ ยกเลิกขบวนพระเกี้ยว การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเรื่องปกติ

โดย pattraporn_a

25 ต.ค. 2564

166 views

เรื่องดราม่ากรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ให้ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งมุมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มุมที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา อีกมุมที่เห็นด้วยมองว่ายกเลิกไปก็ไม่เสียหายอะไร เพราะสาระสำคัญของงานไม่ได้อยู่ที่การอัญเชิญพระเกี้ยว



แถลงการณ์ดังกล่าวที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ (23 ต.ค.) เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ใจความสำคัญของแถลงการณ์ บอกว่า กิจกรรมการอัญเชิญพระเกี้ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาฯ มีปัญหาที่สะท้อนถึงระบบอำนาจนิยม ความไม่เท่าเทียม และเป็นวัฒนธรรมแบบศักดินา ยกคนกลุ่มหนึ่งให้สูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง


คือการอัญเชิญพระเกี้ยวปกติ จะมีผู้อัญเชิญ 2 คน กับคนแบกหามอีก50คน คนอัญเชิญจะนั่งอยู่บนเสลี่ยง ในแถลงการณ์บอกว่า คนอัญเชิญมีกระบวนการคัดเลือกเข้ามา แต่ก็ยังมีข้อกังขาถึงความโปร่งใส ส่วนคนที่ต้องมาแบกหามอีก50 คน ในแถลงการณ์บอกว่า มีการใช้อำนาจบังคับโดยอ้างว่าที่จะมีผลต่อคะแนน ในการคัดเลือกเข้าพัก ในหอพักนิสิต ทางองค์การสโมสรนิสิตฯ จึงเห็นควรให้ยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวดังกล่าว


เรื่องนี้ในมุมของอดีตนิสิตที่เคยเป็นผู้แบกหาม อย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ทางทวิตเตอร์ บอกว่า "การอัญเชิญพระเกี้ยว ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว วัฒนธรรมที่ต้องการจะเคียงคู่ไปกับสังคม ก็ต้องปรับตัวตามบริบททางสังคม นี่คือความร่วมสมัย ที่เป็นปกติวิสัยของโลก ซึ่งผู้รับภารกิจทางวัฒนธรรม มีหน้าที่ที่จะตัดสินใจ ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงนั้น


ในฐานะของคนที่เคยแบกเสลี่ยง ผมคิดว่าการวิวัฒน์ทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความเท่าเทียมกัน เป็นสัญญะที่มีคุณค่าอย่างมากในการสื่อสารทางสังคม ผู้รับภารกิจทางวัฒนธรรม ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม จะตรึง และขังให้วัฒนธรรมหยุดอยู่กับที่ได้อย่างไร "


ในทวิตเตอร์ของ ส.ส.วิโรจน์ ก็มีการแชร์ภาพโพสต์นิสิตเก่าท่านหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในอดีตไม่ได้มีการแบกหามมาตลอด


ในโลกออนไลน์ก็ถกเถียงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง บางคนบอกว่าสาระสำคัญของฟุตบอลประเพณีคือการสานสัมพันธ์ มองว่าสอบเข้ามามีเป้าหมายเพื่อความสำเร็จในชีวิตการงาน ไม่ได้มุ่งมาแบกเสลี่ยง ทุกคนก็อยากนั่งสบายไม่ได้อยากแบกหาม


ขณะที่ความเห็นของนิสิตเก่าอีกมุมนึง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส บอกว่า จริงๆ องค์การสโมสรนิสิตฯ ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ กิจกรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของนิสิต และศิษย์เก่า ที่ช่วยกัน องค์การสโมสรนิสิตฯ มีหน้าที่แค่ประสานงานเท่านั้น แล้วก็บอกว่าการหาคนมาแบกเสลี่ยงสมัยที่ตัวเองเรียนอยู่ ต้องไปแย่งกันแบก เพราะเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่


ล่าสุด เพจของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศ ยืนยันว่า การจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สมาคมจะยังคงสืบสานให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานมา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นความภาคภูมิใจของเหล่านิสิตจุฬาฯ



ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/Czp6uIf7muU

คุณอาจสนใจ

Related News