เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา' ร่ายยาวผ่าน Nikkei Asia นโยบายของไทยต่อเมียนมา ต้องก้าวหน้า

โดย weerawit_c

4 พ.ค. 2567

63 views

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ Nikkei Asia เผยแพร่บทความพิเศษของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในหัวข้อ Thai policy toward Myanmar must move forward หรือ นโยบายของไทยต่อเมียนมาต้องก้าวหน้า


โดยนายพิธา ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบอย่างต่อเนื่องของความไม่มั่นคงในเมียนมา บนผลประโยชน์ของประเทศไทย , ความน่าเชื่อถือของอาเซียน และความเป็นอยู่ที่ดีของพลเรือนทั้งในและนอกเมียนมา ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในจุดยืนเชิงนโยบายต่อเพื่อนบ้าน


ประการแรก รัฐบาลไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่ผ่านมาประเทศไทยเลือกดำเนินนโยบาย ที่เอนเอียงไปทางสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนายพลเมียนมาหลังการยึดอำนาจทางทหาร แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การดำเนินนโยบายที่ผ่านมาของไทยนั้น เริ่มแสดงให้เห็นว่า อาจจะเป็นการเลือกเดินที่ผิดพลาด


ประเทศไทยควรแต่งตั้งผู้มีประสบการณ์ระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นผู้แทนพิเศษ (special envoy) เพื่อดูแลความสัมพันธ์กับเมียนมาโดยเฉพาะ


ดั่งที่พรรคก้าวไกลเคยได้เสนอมาก่อนหน้านี้ เราอยากให้มีกาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงาน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนพิเศษเป็นประธานร่วม เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการตอบสนองต่อความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็วและทันท่วงที คณะทำงานเฉพาะกิจนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากชุดที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญประเด็นเมียนมาโดยเฉพาะ


นายพิธา ระบุอีกว่า กระบวนการที่มีอยู่นั้นติดขัดเรื่องระเบียบของระบบราชการอยู่บ่อยครั้ง และถูกมองผ่านแนวทางของความมั่นคงมากเกินไป สิ่งนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่หลากหลายมิติมีไม่เพียงพอ



“การปรับคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเมียนมาไม่ต่อเนื่อง และเกิดการตั้งคำถามถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นเมียนมาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี” นายพิธา กล่าว



นายพิธา กล่าวต่อว่า ประการที่สอง ประเทศไทยควรมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเหตุโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนในเมียนมา ซึ่งประเทศไทยนั้นมีอำนาจต่อรองในเรื่องนี้ ในฐานะหนึ่งในไม่กี่ประเทศในอาเซียนที่ส่งออกเชื้อเพลิงเครื่องบินไปยังเมียนมา



การโจมตีทางอากาศของทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กะเหรี่ยงและกะเรนนี ได้สร้างความเสียหายให้กับพลเรือนจำนวนมาก และอาจนำไปสู่การหลั่งไหลของผู้อพยพหรือพลัดถิ่นเข้าสู่ประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่ออธิปไตยของชาติและเป็นภาระอันใหญ่หลวงของรัฐไทยที่ต้องให้การดูแลอย่างถูกหลักมนุษยธรรม



ประการที่สาม แม้ว่าความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทย และก๊าซจากเมียนมานั้นคิดเป็น 16% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด แต่การซื้อก๊าซของไทยนั้น เอื้อได้ประโยชน์ และเป็นการสนับสนุนสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมาในทางอ้อม



นายพิธา ระบุว่า ทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขอาจเป็นข้อตกลงเอสโครว์ (escrow) ซึ่งเป็นโมเดลการจ่ายเงิน ที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะจ่ายเงินไปพักไว้ในบัญชีกลาง โดยตั้งเงื่อนไขการนำเงินออกมา ของบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise ให้ต้องพิสูจน์ว่าจะไม่นำเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร และจ่ายออกสำหรับการบริการสาธารณะเท่านั้น



ประการที่สี่ การยึดเมืองชายแดนเมียวดีโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกลุ่มพันธมิตรเมื่อเดือนที่แล้ว ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการใช้หลายช่องทาง เพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังเมียนมา และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างมีส่วนร่วมในการได้รับความช่วยเหลือ



แนวทางการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของประเทศไทยจะต้องครอบคลุมทุกมิติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อเสริมเติมโครงการที่ริเริ่มไปแล้วผ่านสภากาชาดของทั้งสองประเทศ ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยต้องพิจารณาแนวทางด้านมนุษยธรรมคู่ขนาน ที่ทำร่วมกับองค์กรชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านของเมียนมาด้วย



นายพิธา แนะว่า ประเทศไทยอาจมองไปถึงการจัดตั้งพื้นที่ทางเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน เพื่อทำให้เกิดการสร้างงานให้กับผู้ที่หลบหนีจากการสู้รบ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะทำการออกใบอนุญาตพิเศษสำหรับบุคคลากรการแพทย์จากเมียนมา ให้สามารถทำงานในเขตพื้นที่ชายแดนได้ ซึ่งอาจจะช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขไทยได้บ้าง



ในขณะเดียวกัน ผู้อพยพชาวเมียนมาควรถูกมองว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ ที่สามารถมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเรากำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องการนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถึงเวลาแล้วที่รัฐไทยจะต้องคิดที่จะปิดค่ายผู้ลี้ภัยที่ดำเนินการมานานหลายทศวรรษตามแนวชายแดนติดกับเมียนมา และต้องทำให้บุคคลเหล่านี้มีที่ยืน และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยเราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่บุคคลเหล่าที่ จะสามารถสร้างให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ควรเริ่มต้นทำได้เลยคือการการันตีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กพลัดถิ่น ซึ่งจะเป็นการเริ่มพัฒนาความสามารถของบุคคลเหล่านี้



นายพิธา กล่าวอีกว่า การเปิดจุดผ่อนผันทางการค้าอย่างเป็นทางการแต่ชั่วคราว เพื่อทำให้การค้ากับชนกลุ่มน้อยตามชายแดนเป็นเรื่องปกติมากที่สุด จะเป็นผลดี ต่อการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของการจัดการของรัฐชนกลุ่มน้อย และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่กะเหรี่ยงและกะเรนนี



ในส่วนของปัญหาหมอกควันจากการเผาเกษตรกรรมในเมียนมา ซึ่งสร้างมลพิษให้กับน่านฟ้าไทย มีตัวอย่างของการบริหารจัดการป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Salween Peace Park ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ประเทศไทยเองอาจจะให้ความสำคัญกับการรับซื้อสินค้าเกษตรจากเขตปลอดหมอกควัน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกลุ่มชุมชนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาในการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ



ประการที่ห้า ประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยไกล่เกลีย ระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญต่างๆในเมียนมา ซึ่งต้องรวมไปถึงผู้ยังไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติ พ.ศ. 2558 (NCA) ด้วย



ในทางปฏิบัติดั่งที่เคยได้เสนอไปแล้วคือการจัด Chiang Mai Dailogue ที่จะเป็นเวทีที่เป็นกลาง ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญต่างๆ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องประสานงานกับจีน เพื่อที่จะสามารถโน้มน้าวหลายๆฝ่ายให้มาสู่โต๊ะเจรจา



นายพิธา ย้ำว่า เป้าหมายในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและการยุติความรุนแรงนั้นไม่เพียงพอ ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องมีภาพและเป้าหหมายที่ชัดเจนขึ้นว่าประเทศเมียนมา ในช่วงหลังความขัดแย้งนั้นควรเป็นอย่างไร



ประเทศไทย อาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศ ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามความจำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการนี้ อาเซียนสามารถอ้างอิง และหาแรงบันดาลใจจากแนวคิดที่เคยถูกเสนอมาในอดีตเช่น Constructive Intervention (การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์) ที่ได้ถูกเสนอเพื่อมาแก้ปัญหาหลังจากรัฐประหารในกัมพูชาในปี พ.ศ. 2540 หรือ Flexible Engagement (การพัวพันอย่างสร้างสรรค์) ในปีใกล้เคียงกันเพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพจากความขัดแย้งเมียนมา



นายพิธา ระบุว่า แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดของหลักการไม่แทรกแซงในอาเซียนได้



แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเมียนมาคือความซื่อตรงทางการเมืองและความกล้าที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ คุณสมบัติเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอในผู้นำของประเทศไทยและอาเซียนในปัจจุบัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะลังเลต่อการพลักดันในสร้างแนวทางใหม่ๆในการแห้ปัญหาประเทศเมียนมา



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/oU_SE0LS3F8

คุณอาจสนใจ

Related News