เลือกตั้งและการเมือง

'สนธิญา' ยื่น กกต.สอบ 'พิธา' ถือหุ้นสื่อซ้ำอีกรอบ หลังถูกตีตก - กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจง 3 ปมร้อน งบการเงิน 'ไอทีวี'

โดย weerawit_c

17 มิ.ย. 2566

1.3K views

วานนี้ (16 มิ.ย.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ตรวจสอบว่าข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการกำหนดเรื่องการถือหุ้นสื่อไว้เป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ และการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิก หัวหน้าพรรคก้าวไกลและกรรมการบริหารพรรค ถือหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายขัดข้อบังคับพรรคก้าวไกลหรือไม่อีกครั้ง หลังจากที่กกต.ได้มีการยกคำร้องไป


โดยนายสนธิญา กล่าวว่า ตนตรวจสอบไม่เจอว่าข้อบังคับพรรคก้าวไกล มีการกำหนดลักษณะต้องห้ามเรื่องการถือหุ้นสื่อไว้หรือไม่ แต่หากกำหนดเห็นว่าจะทำให้เป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกพรรคของนายพิธา ซึ่งถือหุ้นไอทีวีสิ้นสุดลง และนายพิธา ก็จะเข้าข่ายเป็นบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการชี้นำ ครอบงำการดำเนินการของพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลได้ตามมาตรา 92(3) ของกฎหมายเดียวกัน


“ผมไม่แน่ใจเพราะค้นไม่ได้ว่ากรณีของข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการกำหนดเรื่องการถือหุ้นของสมาชิกหรือหัวหน้าพรรคไว้หรือไม่อย่างไร แต่ผมหยิบเอาประเด็นที่เลขาธิการป.ป.ช.ได้แถลงและยืนยันว่านายพิธา ซึ่งมีนามสกุลเดียวกับยายของผมคือแซ่ลิ้ม ได้ยื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สินเกี่ยวกับการถือหุ้นมาตั้งแต่ปี 62 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปี 62


และเท่าที่ผมทราบนายพิธาถือมาตั้งแต่ปี 50 จึงร้องมาที่กกต. ว่าการที่นายพิธาถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 50 แล้วมาแจ้งการถือหุ้นในปี 62 นั้น เป็นกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับพรรคหรือไม่ เพราะจะพัวพันถึงพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 28 มาตรา 29 ที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคก้าวไกล”


ขณะที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้แจงรายละเอียดการนำส่งงบการเงิน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และข้อสงสัยสาธารณชน 3 ประเด็นหลัก : 1) การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3  2) สถานะของ บมจ.ไอทีวี และ 3) รายงานการประชุมของบริษัทฯ


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ตามที่ได้ปรากฏข่าวเกี่ยวกับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดข้อสงสัยจากสาธารณชนหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 และรายละเอียดด้านอื่นๆ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รวบรวมประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหลักของสาธารณชน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 2) สถานะของ บมจ.ไอทีวี และ 3) รายงานการประชุมของบริษัทฯ กรมฯ ขอชี้แจงตามประเด็นดังกล่าว ดังนี้


1) การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 การจัดทำและการส่งงบการเงินของนิติบุคคลนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 ที่ได้กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามมาตรา 8 ต้องจัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินดังกล่าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นสำนักงานกลางบัญชี ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยการยื่นงบการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด


สำหรับวิธีการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการนำส่งงบการเงิน จะอยู่ในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องแนวทางปฏิบัติในการยื่นงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น พ.ศ. 2565 โดยนิติบุคคลที่มีหน้าที่นำส่งงบการเงินต้องทำการกรอกข้อมูลในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการนำส่งงบการเงิน เช่น รอบปีงบการเงินที่นำส่ง รายละเอียดของกิจการ ชื่อ ที่ตั้ง ข้อมูลผู้ทำบัญชี ข้อมูลผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ถ้ามี) ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัส ทั้งนี้ การนำส่งงบการเงินให้กับกรมฯ เป็นการแสดงถึงผลประกอบการและสถานะทางการเงินของนิติบุคคล เพื่อให้สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่การยื่นจดทะเบียนแต่อย่างใด


2) สถานะของ บมจ.ไอทีวี ปัจจุบันมีสถานะ "ยังดำเนินกิจการอยู่" ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดนิยามไว้ แต่เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่า เป็นนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535) ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสถานะอื่นใด เช่น จดทะเบียนเลิก พิทักษ์ทรัพย์ ล้มละลาย หรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เป็นต้น ดังนั้น สถานะ "ยังดำเนินกิจการอยู่" จึงเป็นการบอกว่านิติบุคคลได้ถูกจัดตั้ง และมีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่านิติบุคคลนั้นมีการทำกิจการหรือประกอบกิจการทางการค้าใดในความเป็นจริงอยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีการประกอบกิจการในลักษณะใดจะแสดงข้อมูลผลการดำเนินการและฐานะการเงินในงบการเงินนั้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับสถานะของบุคคล ก็เปรียบเสมือนบุคคลที่เกิดและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้


3) รายงานการประชุมของบริษัทฯ การนำส่งสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีของบริษัทมหาชนจำกัดนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการยื่นแจ้งงบการเงินประจำปีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งจะทำให้ทราบว่างบการเงินฉบับดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 127 ที่ระบุว่า "บริษัทต้องจัดส่งรายงานประจำปี พร้อมกับสำเนางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแล้ว และสำเนารายงานประชุมผู้ถือหุ้นเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุมัติงบดุล การจัดสรรกำไร และแบ่งเงินปันผล" โดยกรมฯ มีหน้าที่รับเอกสารตามที่นิติบุคคลได้ยื่นต่อกรมฯ


ทั้งนี้ หากพบว่ามีรายงานการประชุมในส่วนของวาระอื่นนอกเหนือจากที่กรมฯ ได้ระบุ และนอกเหนืออำนาจตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ ที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งใดแก่ผู้ถือหุ้นและบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ อาจพิจารณาเป็นการดำเนินการเป็นการภายในของบริษัทที่จะต้องมีการตรวจสอบและชี้แจงต่อไป


กรมฯ ขอให้สาธารณชนสบายใจได้ว่า การดำเนินการของกรมฯ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/Zm0TptJwrio

คุณอาจสนใจ

Related News