เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา' ลุยระนอง ลงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ 'สบตา' ชาวบ้านที่คัดค้าน พร้อมรับหนังสือด้วยตัวเอง

โดย nattachat_c

23 ม.ค. 2567

24 views

นายกฯ นำคณะ ครม. ลงพื้นที่ จ.ระนอง ก่อนประชุม ครม.สัญจรเต็มคณะ ท่ามกลางการจับตาประเด็น "แลนด์บริดจ์" หลังมีเสียงสนับสนุน และคัดค้าน


วานนี้ (22 ม.ค. 67) เวลา 10.50 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนอง ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้


โดยจุดแรกนายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยรถ Alphard สีดำ ทะเบียน กง 888 จังหวัดระนอง มาสักการะศาลหลักเมืองระนอง และอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองคนระนอง ซึ่งมีพ่อของนายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย มารอให้การต้อนรับ และมีบรรดาแฟนคลับ และอสม. มารอมอบดอกกุหลาบ พร้อมขอถ่ายรูปนายกรัฐมนตรีด้วย


ทั้งนี้ มีจังหวะหนึ่ง ก่อนนายกฯจะเดินออกจากศาลหลักเมือง มีประชาชนตะโกนเรียก "ท่านนายกฯ ประชาชนฝากถามเรื่องดิจิทัล wallet รออยู่นะคะ" นายกฯได้เดินเข้าไปหาแล้วตอบว่า "ครับ"


ขณะที่นายอนุทิน ก็โดนตะโกนแซวว่า "เขยระนอง" ทำตัวยิ้มไม่หุบ เพราะ "คุณจ๋า" แฟนของนายอนุทิน เป็นคนจังหวัดระนอง


จากนั้น นายกรัฐมนตรี เดินทางต่อมา ติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง และพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU ณ ท่าเรือระนอง - เกาะสอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง​


ก่อนมาติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง และพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU ณ ท่าเรือระนอง - เกาะสอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง


เวลา 11.15 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่สองที่ท่าเรือระนอง - เกาะสอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง ติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง และพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางมนพร เจริญศรีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม


โดยเมื่อมาถึงมีชาวบ้านมารอต้อนรับนายกฯ พร้อมมอบดอกไม้และถือป้ายข้อความให้กำลังใจ เช่น “ชาวปากน้ำเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการบริหารประเทศไทย “, “ชาวปากน้ำระนองยินดีต้อนรับท่านนายกเศรษฐาท่านรองนายกฯอนุทิน” ,”ขอบคุณท่านนายกฯที่ลงพื้นที่ปากน้ำบ้านเรา รักค่ะ” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประชาชนตะโกนขอให้เป็นนายกฯ 4 ปี และมีประชาชนกล่าวว่าคนระนองมีแต่คนสวยๆนะคะท่านนายกฯ ด้านนายกฯตอบกลับว่า แน่นอนอยู่แล้ว พร้อมหันไปชี้ที่นายอนุทิน ก่อนกระเซ้าว่านายอนุทินยังมาเป็นเขยระนองเลย ทำให้นายอนุทินหัวเราะ


ทั้งนี้ยังมีชาวบ้านนำภาพถ่ายกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อครั้งลงพื้นที่ระนอง มาให้นายเศรษฐาดู พร้อมบอกว่านายเศรษฐาเป็นนายกฯคนที่ 2 ที่ลงพื้นที่ระนอง


ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มเครือข่ายแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทย เช่น คนไทยพลัดถิ่น และชนเผ่ามอร์แกน เป็นต้น มารอพบนายกฯเนื่องจากบางส่วนไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้จากรัฐ


นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนว่า ดีใจวันนี้ได้มาระนองครั้งแรก นั่งมาในรถ นับประมาณ 40 ปี แล้ว และวันนี้มาทั้งคณะรัฐมนตรีซาบซึ้งถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่น้องชาวระนอง ซาบซึ้งถึงความจริงใจที่ชาวใต้มีให้กับพวกเรา แม้เป็นจังหวัดเล็กแต่รัฐบาลให้ความสำคัญ มีความจริงใจ ความอบอุ่นที่เราได้รับวันนี้จะประทับใจโดยไม่รู้ลืม


“จริงๆแล้วคณะรัฐมนตรีกับทางระนองก็เป็นเครือญาติกัน เพราะ รองนายกรัฐมนตรีก็เป็นเขยที่นี่ คุณจ๋ามีรอยยิ้มที่หวาน และที่จริงใจทำให้มัดใจท่านรองนายกของเราได้ “ จังหวะนี้ทำให้นายอนุชิน ได้ยกมือไหว้ พี่น้องชาวระนอง


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ฟังการบรรยายมีหลายมิติ รัฐบาลสนับสนุนท่าเรือตรงนี้ให้มีการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น เพราะเราคำนึงถึงการค้าชายแดน การเดินทางระหว่างนักท่องเที่ยวที่มาจากเมียนมา และการทำงานตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราจะปรับปรุงแต่ท่าเรืออย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด การที่เรามีการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกเรื่องสำคัญคือผู้ประกอบการต้องการความสะดวกสบายวันสต๊อปเซอร์วิส เวลามาไม่ต้องเสียเวลาในการคอยหรือผ่านแต่ละโต๊ะ ตรงนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ที่จะทำให้ท่าเรือระนองแห่งนี้มีความทันสมัยและมีความสะดวกสบายในการใช้ และยืนยันว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่การทำให้ท่าเรือนี้ดีขึ้นเท่านั้น แต่เรื่องของการประมงก็เป็นเรื่องสำคัญ การที่เราแก้ไขปัญหาไอยูยูมาก็สำเร็จไปได้เปราะหนึ่งแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าทำให้ปลดล็อกเรือประมงไทยให้ออกไปค้าขายได้ดีขึ้น ต้องขอบคุณที่ให้การต้อนรับ


นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยด้วยว่า ได้ไหว้ศาลหลักเมือง และอนุสาวรีย์พระยาดํารงสุจริต มหิศรภักดี เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มภารกิจที่ จ.ระนอง ดีใจที่พี่น้องชาวระนองมารอต้อนรับ และดีใจเป็น 2 เท่าที่พี่น้องเข้าใจสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ หลายคนบอกตนว่าพื้นที่ต้องการโครงการแลนด์บริดจ์และขอให้รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่เพื่อพัฒนาระนอง ตนบอกเลยว่านั่นเป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำเพื่อพี่น้องชาว จ.ระนอง


ส่วนช่วงบ่าย นายกฯ จะเดินทางไปยังพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ โดยถือว่าเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดที่จะสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ภายหลังจากที่รัฐบาลมีการโรดโชว์โครงการนี้ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตลอดการทำงานตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาด้วย


สำหรับประเด็นการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรี ต้องติดตามด้วยกัน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่


1.เรื่องการผลักดันให้แลนด์บริดจ์เป็นประตูการค้า โดยเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของไทย และเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในกลุ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงจีนตอนใต้


2.เรื่องของการถ่ายลำเรือสินค้า โดยพัฒนาให้แลนด์บริดจ์เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในมหาสมุทรอินเดีย และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ใต้หวัน เป็นต้น โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน


3.การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า โดยมีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้


.การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานทางกฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นต้น


ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน หากก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่มีที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ขณะที่บางคนเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะบ้านเมืองจะได้เจริญ ลูกหลานจะได้มีงานทำ

---------------

วานนี้ 22 ม.ค. 67 เวลา 13.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ ลงพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน หรือ Land Bridge ชุมพร - ระนอง ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง พร้อมด้วยนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​คมนาคม และ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 คนร่วมคณะด้วย


ทั้งนี้ ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางมาถึงปรากฏว่าได้มีกลุ่มคัดค้านติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "No landbridge แลนด์บริดจ์"​ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เพียงให้อยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯเท่านั้น เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า


โดยทันทีที่เดินทางมาถึงนายกรัฐมนตรี ได้ไปดูจุดที่จะก่อสร้างท่าเรือและได้รับฟังบรรยายการก่อสร้างจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.


ทั้งนี้ นายเศรษฐา ได้ให้สัมภาษณ์ โดยระบุถึงโครงการดัง ว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งแรก ได้รับฟังรายงานจาก สนข.ถึงภาพรวมโครงการ ซึ่งอธิบายชัดเจนว่า พี่น้องประชาชนในพื้นที่สามารถประกอบอาชีพประมงได้ และเห็นถึงศักยภาพตามที่คณะกรรมการได้เสนอ


เมื่อถามว่า ยังมีการคัดค้านจากประชาชนจะเป็นจะต้องทำความเข้าใจหรือไม่ นายเศรษฐา​ กล่าวว่า การทำโครงการใหญ่ๆเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีคนไม่เห็นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับฟัง ทั้งจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ วันนี้ก็จะมีคนมายื่นหนังสือก็จะได้รับฟังว่าข้อห่วงใยของเขามีอะไรบ้าง


เมื่อถามว่า ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่น้อยไปหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า โครงการเพิ่งเริ่มเอง อย่าทำเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโต ขอรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนก่อน ถ้าจำได้ เมื่อ 20 ปีที่แล้วสมัยนายทักษิณ ชินวัตร ก็มีโครงการเมกะโปรเจคที่ใหญ่ระดับชาติ คือการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีการถกเถียงกันนานมาก แต่รัฐบาลของนายทักษิณ ก็เดินหน้าเต็มที่จนกลายเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงทุกวันนี้ และนายสุริยะ ก็เป็นรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยนั้นด้วย และหลังจากนั้นมาก็ไม่มีเมกะโปรเจคใหญ่ๆอีกเลย แล้วดูซิว่าประโยชน์ที่เราได้รับจากสนามบินสุวรรณภูมิ จาก 20 ปีที่แล้วจนมาถึงวันนี้ประโยชน์มหาศาล ถ้าเราไม่มีโครงการเหล่านี้ขึ้นมา


นายกรัฐมนตรี​ ยังกล่าวต่อด้วย ว่า การขนส่งทางทะเล ตอนนี้เริ่มหนาแน่นและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ทำให้มีการแออัดการในการขนส่งสินค้าจากฝั่งนึงของโลกมาอีกฝั่งหนึ่งของโลก ทำให้การสร้างโครงการเมกะโปรเจค เชื่อมระหว่างอันดามันมายังอ่าวไทย ส่งต่อไปทั่วโลกเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งยังนำความเจริญก้าวหน้าเข้ามาสู่ประเทศทั้งเรื่องการขนถ่ายสินค้ากาาเป็นแรงจูงใจให้บริษัทข้ามชาติ หลายบริษัทมาสร้างแหล่งผลิตส่งออก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เครื่องจักรกลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้ หากไปดูในรายละเอียดการขนส่งสินค้าน้ำมันไปทั่วโลก 60% ผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เราจะต้องผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้


เมื่อถามถึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในพื้นที่อยากให้ศึกษาให้รอบด้านก่อน และถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นพื้นที่เสนอเป็นมรดกโลก และความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว และที่ระนองค่อนข้างจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธรรมชาติ จึงเกิดข้อกังวลกับผลกระทบดังกล่าว จึงอยากให้ศึกษาก่อนผลักดัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องศึกษาก่อน จริงๆแล้วขั้นตอนต่อไปจะไปดูแหล่งน้ำพุร้อน เรื่องของการท่องเที่ยว ดังนั้นเรื่องของการท่องเที่ยวให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การที่เราจะสนับสนุนตรงนี้ต้องควบคู่เรื่องของความเจริญในหลายๆมิติ


ส่วนเรื่องการศึกษาโครงการก็ต้องทำควบคู่กันไป จะช้าจะเร็ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องของประชาชนด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ ยืนยันจะทำเต็มที่และเข้าใจความต้องการของทุกฝ่าย


ส่วนที่ชาวบ้านมีความกังวลเรื่องการจ้างงานหลังก่อสร้าง Land Bridge นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องมีความกังวลเลย น่าจะเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า ให้มองเป็นเรื่องโอกาส การสร้างท่าเรือไม่ใช่เฉพาะเรื่องการขนส่งอย่างเดียว เรือสำราญ​ต่างๆ จอดเทียบได้เรือสำราญต่างๆก็เข้ามาจอดเทียบได้ ตนเชื่อว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญไม่ใช่แค่ชาวระนอง แต่ยังรวมถึงจังหวัดอันดามันด้วย ซึ่งควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคใต้ทั้งจังหวัด เพราะจะมีการสร้างสนามบินอันดามัน ที่จังหวัดภูเก็ต ที่จะเป็นสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ รัฐบาลเชื่อว่าจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะที่เรื่องของความมั่นคง ยืนยันว่า เวลาทำโครงการใหญ่ ดูรายละเอียดครบทุกมิติ


จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากนางสาวทม สินสุวรรณ​ ตัวแทนกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นตำบลราชกรูด ที่อาศัยอยู่บริเวณที่จะมีการก่อสร้าง Land Bridge อยากให้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ โดยนางสาวทม กล่าวว่า อยากให้ช่วยพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นด้วย และมาวันนี้อยากจับมือกับท่านนายกฯ เพราะท่านนายกฯเป็นคนดี อยากให้ช่วยก่อนจะถามว่า "ทะเลสวยมั้ยค่ะ ชะลอไปก่อนได้มั้ยค่ะ"


จากนั้นตัวแทนอีกคนได้อธิบาย ว่า ชุมชนที่คนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ เป็นพื้นที่ที่จะทำ Land Bridge พอดี และพี่น้องตรงนี้ก็ยังไม่มีบัตรประชาชนด้วย ซึ่งเคยเดินขบวนไปเรียกร้องที่กรุงเทพฯตั้งแต่ปี 2555 แต่นับวันนี้กระบวนการก็ยังไม่แล้วเสร็จ อยากให้นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการสำรวจพี่น้องที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ขณะเดียวกันก็อยากจะให้ช่วยค่าใช้จ่ายในการตรวจ DNA พิสูจน์สัญชาติด้วย


จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ Land Bridge ถือว่าเป็นโอกาส แต่ว่าการมีโอกาสก็ต้องมีการให้โอกาสกับคนพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นเช่นกัน หน้าที่ของรัฐบาลก็ต้องมารับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชน


จากนั้นตัวแทนของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ได้ย้ำกับนายกฯ อยากให้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ก่อนจะรายงานอะไร ขอให้แสดงความจริงใจด้วย เพราะมันมีการรายงานว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการ Land Bridge ทั้งหมด เพราะมันมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ


นายกรัฐมนตรี จึงตอบกลับว่าการรับฟังต้องมีทั้ง 2 ทาง และท่านอนุทิน ก็ลงพื้นที่บ่อย ขอให้ทุกคน ไม่ต้องเป็นห่วงเรามีความจริงใจอยู่แล้ว

--------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/nNBLrQdpPxM

คุณอาจสนใจ

Related News