เลือกตั้งและการเมือง

สว.อภิปราย หนุนเพิ่มโทษขัดขวางขบวนเสด็จฯ เพิ่มโทษเท่า ม.112

โดย panisa_p

27 ก.พ. 2567

152 views

27 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมในวันนี้ มีวาระสำคัญในการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองสิทธิประมุขของรัฐ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา พิจารณาแล้วเสร็จ


โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองสิทธิประมุขของรัฐจากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และประเทศที่มีระบบการปกครองที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งในการศึกษาของคณะกรรมการ ยังได้ศึกษาไปถึงบทลงโทษของผู้ละเมิดสิทธิตอบคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในบริบทของประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น


โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษา 3 ส่วนสำคัญประกอบด้วย หลักการแนวคิด และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองสิทธิของ บุคคลและการคุ้มครองสิทธิประมุขของรัฐ, หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิประมุขรัฐในต่างประเทศ ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ยกตัวอย่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้โดยปราศจากการแทรกแซง ต้องเคารพสิทธิ และชื่อเสียงของบุคคลอื่น และต้องรักษาความมั่นคงของชาติความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมของประชาชน ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ก็มีการคุ้มครองสิทธิ์เช่นเดียวกัน


ซึ่งที่ผ่านมา มีกลุ่มบุคคลพยายามสร้างประเด็นว่า มีการใช้มาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้ง และจัดการกับกลุ่มเห็นต่างหรือผลประโยชน์ทางการเมือง ในส่วนนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทยนั้นสอดคล้องกับ ICCPR ด้วยเช่นกัน และประเด็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ การสื่อสารกับประชาชน เป็นคำถามที่ประชาชนมักจะมีคำถามเกิดขึ้นบ่อย เช่น ทำไมประเทศไทยถึงมีมาตรานี้ และทำไมมาตรา 112 ต้องอยู่ในหมวดความมั่นคง โดยจากการศึกษาข้อมูลของคณะกรรมาธิการแล้วพบว่า ประเทศที่มีมาตรา 112 มีอยู่มากมาย ซึ่งนำไปใช้ทั้งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ และประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อคุ้มครองประมุข ของประเทศนั้นๆ


สำหรับคำถามต่อมาตรา 112 ที่ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญในหมวดของความมั่นคงนั้นเนื่องจากประเทศไทย มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักทางสังคม เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ จึงถือเป็นความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น หากมีการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงต่อสถาบัน จึงขัดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย


ขณะที่การอภิปรายของ สว.นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ พลตำรวจโทศานิตย์ มหาถาวร สมาชิกวุฒิสภา ที่อภิปรายสนับสนุนให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 โดยการเพิ่มโทษเรื่องการถวายความปลอดภัย ที่ผู้ใดแสดงหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อขบวนเสด็จฯ พระมหากษัตริย์ ให้มีอัตราโทษเท่ากับมาตรา 112 รวมถึงการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ขัดขวางการถวายงานของเจ้าหน้าที่ด้วย


ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติถวายความปลอดภัย โดย คณะรัฐมนตรี หรือ สส. สามารถทำได้ หากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พร้อมให้การสนับสนุน โดยใช้วิธีการพิจารณาแบบ 3 วาระรวด โดยคณะรัฐมนตรี อาจหารือกับกฤษฎีกา ปรับแก้ร่างกฎหมาย และส่งมายังสภา เพื่อดำเนินการให้ครบถ้วน ไม่ให้มีช่องว่างในการก่อเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัย และกำหนดให้มีบทลงโทษชัดเจน


นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า ปัจจุบันมีผู้กระทำผิดต่อกฎหมายในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในการคุ้มครองประมุขของรัฐ และหลายกรณีพบผู้กระทำผิดเป็นกลุ่มเดิม และกระทำการเดิม เช่น กรณีการอดอาหารประท้วง เพื่อกดดันให้ศาลประกันตัวชั่วคราวโดยผู้กระทำผิดที่ไม่สำนึก เป็นแบบอย่างให้นักโทษทั่วประเทศอดอาหาร เพื่อเรียกร้องด้วย ดังนั้น อยากให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ โดยขอให้คณะกรรมาธิการฯ นำข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันนำใส่ในรายงานด้วย


ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น กรรมาธิการฯ ได้ขอนำรายงานฉบับนี้ กลับไปแก้ไขในบางประเด็นที่มี สว.ท้วงติง ก่อนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรี อัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News