เลือกตั้งและการเมือง

ประชุม คกก.แก้ รธน.นัดแรก ผุด 2 อนุฯ-รัฐบาล พร้อมทำประชามติไตรมาสแรกปี 67 แม้ก้าวไกลไม่เข้าร่วม

โดย chiwatthanai_t

10 ต.ค. 2566

87 views

คณะกรรมการศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ประชุมนัดแรก เห็นชอบตั้งอนุกรรมการ 2 คณะ หาข้อยุติจำนวนครั้งในการจัดทำประชามติ และเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยคาดหวังจะทำประชามติครั้งแรกในต้นปีหน้า รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลตั้งใจจริง แม้พรรคก้าวไกล ไม่ได้เข้าร่วมก็พร้อมรับฟังความคิดเห็น และไม่กังวลที่ถูกด้อยค่า เพราะตั้งใจทำให้สำเร็จ คาดหวังว่าการเลือกตังในสมัยหน้าจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาใหม่


การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่ง 2560 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีกรรมการ 35 มาจากตัวแทนพรรคการเมืองเช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ และนักกฏหมาย เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ นักวิชาการทั้ง ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ซึ่งที่ประชุมโดยนายนิกร จำนง ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ แถลงร่วมกับนายภูมิธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมยืนยันในหลักการของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แก้ไข หมวด 1 และ 2 โดยกรอบการทำงานจะตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด ในการหาข้อยุติถึงแนวทางการจัดทำประชามติว่าต้องกี่ครั้งและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย


นายภูมิธรรม ยืนยันว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะแก้ไขรัฐธรรมนุญให้สำเร็จ ตั้งเป้าประชุมครั้งต่อไปในต้นเดือนพฤศจิกายน ให้ได้แนวทางภายในเดือนธันวาคม และอยากให้การทำประชามติครั้งแรกเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคม 2567 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี ตามวาระของรัฐบาล พร้อมร่างกฎหมายลูก ที่สามารถใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้


นายภูมิธรรม มั่นใจว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะได้รับการยอมรับ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่เข้าร่วม เพราะจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกด้าน และไม่มองว่าเป็นการด้อยค่า เช่นเดียวกับนักวิชาการ ทั้ง ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่เสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วม จึงอยากให้ร่วมแสดงความคิดเห็น ยืนยันว่าการทำหน้าที่ในคณะกรรมการชุดนี้จะไม่มาเป็นส่วนหนึ่งของเกมซื้อเวลา จึงจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพิสูจน์ความจริงใจ โดยกรรมการชุดนี้จะหาคำตอบสำคัญว่าจะทำประชามติกี่ครั้งเพราะยังมีความเห็นต่างว่าจะ 3 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง ซึ่งยังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบ และบางส่วนไม่อยากให้สิ้นเปลืองงบประมาณ


คณะกรรมการยังไม่ได้นำข้อเสนอจากไอลอว์ที่เข้าชื่อประชาชนเสนอเรื่องประชามติมาพิจารณา เพราะเป็นขั้นตอนผ่าน กกต.ไปยังสภาผู้แทนราษฎร แต่แนวทางจะต้องหาข้อสรุปทั้งจำนวนครั้งการทำประชามติ การตั้ง สสร.การแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งคงไม่แล้วเพราะรัฐบาลจะไม่แก้หมวด 1 และ หมวด 2 และคำถามประชามติจะเป็นอย่างไร

คุณอาจสนใจ

Related News