สังคม

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน รายงานการจัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ไทยเลื่อนอันดับจาก 106 เป็น 87

โดย panisa_p

3 พ.ค. 2567

37 views

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน  เปิดเผยรายงานจัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ประจำปี 2024 เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งประเทศไทยได้เลื่อนอันดับจากอันดับที่ 106 มาเป็นอันดับที่ 87 จากหลายปัจจัย เช่น การเลือกตั้งและภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังน่าเป็นห่วงเรื่องการใช้กฎหมายปิดปากสื่อทั้งในกรณีมาตรา 112 และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้



เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World Press Freedom Day ข่าว 3 มิติ ได้เดินทางมากรุงไทเป-ไต้หวัน ร่วมกับ Cofact Thailand และ มูลนิธิฟริดิช เนามัน พบปะกับ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน Reporters Without Borders ซึ่งเป็นองค์กรทำงานด้านเสรีภาพสื่อมวลชนโลกมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศลและสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ไต้หวัน ประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก และในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกทุกปี องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนจะออกรายงานประจำปี อันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลก จาก 180 ประเทศ ซึ่งปีนี้ประเทศไทย ได้เลื่อนอันดับจาก 106 มาเป็นอันดับที่ 87 จากตัวชี้วัดหลายปัจจัย เช่นการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว



ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 2563 ขณะที่การรณรงค์หาเสียงมีการถกเถียงอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ โดยคำถามส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกฏหมายอาญามาตรา 112 หรือเรียกกันว่ากฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งกล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย อาจส่งผลให้มีการจำคุกที่ยาวนาน และกลายเป็นประเด็นที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ยังคงจับตาเสรีภาพของสื่อไทย รวมถึงการใช้กฏหมายปิดปาก ดำเนินคดีกับสื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย



รายงานขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ระบุว่าในสังคมไทย ภูมิทัศน์สื่อยังมีการแบ่งขั้วอย่างมาก และมีการคุกคามสื่อไปถึงสื่อออนไลน์ เช่น ประชาไท และ The Reporters ซึ่งต้องต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข่าวสารและข้อมูลที่เชื่อถือได้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยอาจดีขึ้น แม้จะมีการปลดพนักงานองค์กรสื่อ แต่พบการผูกขาดสื่อ และการเป็นเจ้าของสื่อของทุนใหญ่มากขึ้น ซึ่งองค์กรสื่อไร้พรมแดนเป็นห่วงการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อไทย เพราะต้องระวังข้อกล่าวหาบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และห่วงเรื่องความปลอดภัยจากการถูกจับกุม รวมถึงการเผชิญกับข่าวลววงหรือ fakenews ที่องค์กรตรวจสอบข่าวลวงอย่าง Cofact thailand มองเห็นว่า เสรีภาพของสื่อไทยยังมีความท้าทาย รวมถึงในยุคของ เอไอ ที่ทั่วโลกกำลังเป็นห่วงถึงปัญหานี้



สำหรับประเทศที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมวลชนอันดับ 1-3 ยังคงเป็นประเทศ นอร์เวย์ เดนมาร์ค สวีเดน ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนเป็นห่วงด้วยว่า ในจำนวนนี้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลกอยู่ในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพสื่อ โดยองค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพประชาชนอย่างมูลนิธิฟริดิช นอร์แมน ก็เห็นตรงกันว่าทำไมเสรีภาพสื่อถึงมีความสำคัญ



ส่วนประเทศในอาเซียน สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เช่น มาเลเซีย อยู่ในอันดับ 107 อินโดนีเซีย 111 และ ฟิลลิปินส์ 134 ขณะที่จีน ออยู่ในอันดับ 172 และเมียนมา อยู่ในอันดับ 171 จากสถานการณ์หลังรัฐประหาร ซึ่งน่าเป็นห่วงกรณีการลี้ภัยของนักข่าวจำนวนมากด้วย ในขณะที่ไต้หวัน อยู่ในอันดับที่ 25 และที่น่าสนใจคือประเทศใหม่อย่างติมอร์เลสเตอร์ที่พบว่ามีเสรีภาพสื่ออยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก เพราะมีคนรุ่นใหม่มากขึ้น

คุณอาจสนใจ