อาชญากรรม

ครอบครัวยินยอมส่งเด็ก 14 ให้แพทย์รักษาต่อ หลังกรมพินิจฯ หมดอำนาจคุมตัว

โดย chutikan_o

1 ม.ค. 2567

70 views

กรมพินิจฯ หมดอำนาจคุมตัว ครอบครัวเด็ก 14 ก่อเหตุกราดยิงในพารากอน ยินยอมให้แพทย์นำตัวไว้รักษาอาการทางจิตต่อจนกว่าจะหายดี

จากกรณี ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงกระสุนปืนด้วยอาวุธแบลงค์กันกลางห้างสยามพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย ได้รับการส่งตัวเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แทนการคุมตัวไว้ที่สถานพินิจฯ เนื่องจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ตรวจประเมินสุขภาพจิตของเด็กเบื้องต้น เห็นควรส่งตัวเข้ารับการรักษาและประเมินอาการทางจิตจากแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น

กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ส่งคืนสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เนื่องจากขั้นตอนการสอบสวนแจ้งข้อหาโดยไม่ชอบ เป็นการทำก่อนแพทย์ตรวจประเมินผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กโดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ อีกทั้งในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ครบกำหนดผัดฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ตามที่ได้นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ทำให้สถานพินิจกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจควบคุมตัวเด็กได้ ดังนั้นวันนี้ (1 ม.ค. 2567) เวลา 10.00 น. จะต้องปล่อยตัวเด็กชายจากการดูแลของแพทย์สถาบันกัลยาราชนครินทร์ให้กับผู้ปกครอง แต่ทางกรมพินิจฯ ได้ส่งหนังสือกำชับขอความร่วมมือไปยังสถาบันกัลยาณ์และผู้ปกครองเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสภาพอาการและการประเมินสุขภาพจิตของเด็ก เห็นควรว่าเด็กจะต้องเข้ารับการรักษาตัวต่อเนื่อง

ดังนั้นเมื่อช่วง 10.00 น.ที่ผ่านมา จึงประชุมหารือร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งพ่อแม่ของเด็กผู้ก่อเหตุ แพทย์สถาบันกัลยาราชนครินทร์ โดยใช้เวลาหารือราว 1 ชั่วโมง แต่ไม่ให้สัมภาษณ์หรือบันทึกภาพ

ทีมข่าว โทรศัพท์สอบถามไปยังนางสาว ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวเด็ก จึงมาแจ้งสถาบันกัลยาณฯ และส่งมอบให้ผู้ปกครองลงนามรับตัวเด็ก ก่อนจะหารือเรื่องการรักษาตัวต่อภายในสถาบันฯ โดยผู้ปกครองยินยอมให้สถาบันฯ รักษาตัวต่อไป โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง แต่ไม่สามารถระบุกรอบเวลาการรักษาตัวได้ จากนี้ถือว่าหมดอำนาจการควบคุมของกรมพินิจฯ แล้ว

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กระบวนการของอัยการได้หมดหน้าที่นับตั้งแต่คืนสำนวนคดีให้ตำรวจ ส่วนเรื่องการรักษาตัวเด็กชายผู้ก่อเหตุที่สถานพยาบาลแห่งนี้ต่อไปนั้น ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะสหวิชาชีพผู้ร่วมรักษาเด็ก ระบุว่า แพทย์ได้ลงความเห็นว่าเด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม และต้องหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช แพทย์จึงยืนยันว่าจะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย เนื่องจากการรับการรักษาต่อนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครองเอง



https://youtu.be/IDTe89PEWyI



คุณอาจสนใจ

Related News