สังคม

ศธ.360 องศา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนต้นแบบ ปั้นนักเรียนให้มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

โดย weerawit_c

14 ต.ค. 2566

866 views

พาไปที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อติดตามการเรียนการสอนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่นี่มีการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรพิเศษเพื่อจะสร้างนักเรียนให้มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนประจำ มีนักเรียน 720 คน ด้วยความเป็นองค์การมหาชนของรัฐ ที่นี่จึงสามารถพัฒนาหลักสูตรที่มีลักษณะพิเศษ โดยเน้นการเสริมพลังให้กับนักเรียน ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตนเอง


ด้าน ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า จุดเน้นที่สำคัญก็คือ เราใช้คำว่า student empowerment ซึ่งแปลเป็นไทยว่า เราจะให้เด็กเป็นผู้กำกับการเรียนรู้และชีวิตของตัวเองเลย เพราะฉะนั้นเด็กเข้ามาตอน ม.4 เขาก็มีโอกาสที่จะเลือกว่าเขาสนใจที่จะไปทางด้านไหน


เพราะฉะนั้นหลักสูตรเปิดโอกาสให้เขาทำเต็มที่ เขาอยากจะทำโครงงานเขาก็สามารถทำโครงงานได้อย่างเต็มที่เลย เขาอยากไปเน้นทางด้านโอลิมปิก ซึ่งเรามีโอลิมปิกอยู่ 8 วิชา เราก็สามารถส่งเสริมเขาได้อย่างเต็มที่


เมื่อไรก็ตาม ถ้าเขาเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง เขาสามารถทำทุกอย่างได้ เราเป็นผู้สนับสนุน ผมคิดว่านี่คืออนาคตของการศึกษาที่เราควรจะต้องขยับที่จะทำให้อนาคตของเขาเป็นอนาคตของเขาและเป็นอนาคตของประเทศไทย


การเรียนการสอนของที่นี่จึงมีมาตรฐานเทียบเคียงกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก  ที่นี่ยังเป็นศูนย์โอลิมปิกวิชาการแห่งเดียวของประเทศ ที่บริหารจัดการโครงการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการใน 8 สาขา คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โลกศาสตร์


ในฐานะโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนยังมีห้องปฏิบัติการทดลองที่ได้มาตรฐาน และมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ นักเรียนจึงได้พัฒนาโครงงานวิจัยที่สนใจอย่างเต็มศักยภาพ


ในการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนมีการจัดวิชาเรียนประมาณ 100 วิชา ให้นักเรียนเลือกเรียนตามความสนใจ เนื้อหากว่าครึ่งครอบคลุมไปถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยโรงเรียนจัดคาบเรียนให้นักเรียน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และใช้เวลาที่เหลือเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจ


ปานรวี ทองพูล นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า การแบ่งเวลาของหนู ค่อนข้างที่จะใช้ชั่วโมงที่โรงเรียนให้ที่เป็น asyncronus ที่ให้เด็กไปเรียนรู้นอกเวลา  เรียนรู้ด้วยตัวเองนอกเวลา  พอเรียนช่วงเช้าเรียนเสร็จ ช่วยบ่ายบางวันก็จะไม่ได้เรียนทั้งวัน จะมีช่วงเวลาที่ว่างอยู่  หนูก็จะมาห้องสมุด มายืม textbook ไปอ่าน  เพื่อเตรียมสอบสอวน.ด้วย  แล้วพอห้องสมุดปิดเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ก็กลับหอแล้วก็ไปทำการบ้าน  ทำการบ้านเสร็จ อาบน้ำนอนก็ประมาณ 4 ทุ่ม  เวลาเด็กทั่วไปก็ได้นอนครบ 8 ชั่วโมง


ศุภกฤฒ สุขานนท์สวัสดิ์  นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า เมื่อเรามีโอกาสเข้ามาหาเรา  เราควรที่จะพยายามรับมันไว้  เหมือนผมสนใจด้านคอม  มันก็มีมหาลัยที่เขาเก่งด้านคอมมาบรรยายที่โรงเรียน  ผมก็จะพยายามเคลียร์ตารางตัวเอง  พยายามเข้าฟังให้ได้  ม้นเป็นการเปิดประสบการณ์ตัวเอง หรือไม่โรงเรียนก็มีกิจกรรมต่างๆ ไปศึกษาดูงานด้านคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ผมก็จะพยายามหาโอกาสแล้วก็ปรึกษาคุยกับรุ่นพี่เยอะๆก็จะได้ประสบการณ์และเปิดมุมมองใหม่ๆ


ศิริอานันท์ บุญประสิทธิพันธ์ นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า ในส่วนของม.5 ที่ผมรู้สึกว่าพิเศษกว่า ม.4 ก็จะมีเรื่องโครงงานวิทยาศาสตร์  ผมก็รู้สึกม้นเป็นการทำงานใหม่ๆ  คือแบบเราอยู่ใช้ชีวิตปกติ แล้วก็ นานๆ ทีอ่านเปเปอร์วิจัย อ่านนิดหน่อย แล้วพอเราได้ทำโครงงาน เราได้อ่านเปเปอร์เยอะ เราได้ลองเขียนจริงๆ   เราได้ลองใช้ชีวิตเป็นนักวิจัยจริงๆ เหมือนเราทำงานจริงๆ


นอกจากนี้  โรงเรียนยังมีคณะกรรมการสภานักเรียน  ทำหน้าที่สะท้อนเสียงของนักเรียน และประสานความร่วมมือระหว่างครูและนักเรียน


กฤตรัฐ ทิพย์สุนทรศักดิ์ ประธานนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า ผมก็เป็นประธานนักเรียนก็คอยกระจายงานให้เพื่อน และคอยรับงานจากอาจารย์  โดยที่อาจารย์จะคอยบอกเรื่องข้อมูลต่างๆ  เป็นคนที่เป็นแกนหลักในการติดต่อประสานงาน จากนั้นผมก็จะไปคุยกับทีมเพื่อนของผม ทีมรองประธาน ทีมเลขาว่า เราจะคุยอะไรกับเพื่อนดี อาจารย์ให้งานมาแล้วงานหนึ่ง ต้องกระจายต่อ เอาเข้าที่ประชุมของกรรมการสภานักเรียน และคอย conduct การประชุม คอยควบคุมการประชุม


ณรฎา จะชาลี  รองประธานนักเรียน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า ก่อนหน้านี้ จะมีเรื่องกฎระเบียบตั้งแต่ต้นปีเลย ที่เรามีการพูดคุยกันจากฝั่งเพื่อนๆ ว่ามีการอยากแก้เรื่องอะไรบ้าง ฝั่งของอาจารย์มี concern เรื่องไหนบ้าง แล้วเราก็มาคุยกัน เพื่อหาจุดตรงกลางให้ได้มากที่สุด อย่างก่อนหน้านี้ก็กฎของการใส่รองเท้า ที่มีการยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นมา


สรวิศ ก่อกิจกุศล  กรรมการสภานักเรียน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า อาจจะมีเรื่องของตารางเรียนบ้าง ที่อาจจะมีบางคนที่อยากให้เป็นรูปแบบหนึ่ง  เรามีการคุยกันเพื่อปรับเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการเรียนมากที่สุด นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงสามารถพัฒนาทักษะชีวิตควบคู่กับความเป็นเลิศทางวิชาการผ่านการใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำ  เป็นตัวอย่างของการสร้าง Sandbox ทางการศึกษา เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


ถือว่าการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ก็จะเป็นแนวทางให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้  เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป

รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/EXLpikK62DY

คุณอาจสนใจ

Related News