สังคม

'อ.เจษฎา' ชี้ เครื่องอบเล็บเจลเสี่ยงมะเร็ง เพียงแค่ผลวิจัยในห้องทดลอง

โดย chiwatthanai_t

26 ม.ค. 2566

626 views

แพทย์สถาบันโรคผิวหนังและอาจารย์เจษฎา จุฬาฯ ชี้ตรงกัน งานวิจัยต่างประเทศ รังสี UV จากเครื่องอบเล็บ เสี่ยงเกิดมะเร็ง เพียงวิจัยห้องทดลอง ไม่ได้ทดสอบในมนุษย์ จึงอย่าตกใจมากเกินไป


จากงานวิจัยของนักวิชาการด้านผิวหนัง มหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เตือนภัย รังสีอัลตราไวโอเลต( UV ) จากเครื่องอบเล็บ อาจทำลาย DNA และทำให้กลายพันธุ์ก่อให้เกิดมะเร็งในเซลล์ของมนุษย์ได้ ข้อมูลการแพทย์ในงานวิจัยชี้นนี้ ระบุว่า โคมไฟ UV สำหรับอบเล็บ เปรียบเสมือนเตียงอาบแดดขนาดเล็กสำหรับนิ้วมือพบว่า จะแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ลึกกว่า


ซึ่งข้อมูลนี้ทำให้แพทย์ผิวหนังบางคนเปลี่ยนวิธีการทำเล็บเจลหรือเลิกทำเล็บไปเลย โดยทีมข่าวสอบถามข้อเท็จจริงจาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ได้อ่านงานวิจัยแล้ว พบว่า ได้ทำการวิจัย โดยการนำเซลล์ของเนื้อเยื่อมนุษย์และเซลล์เนื้อเยื่อของหนู นำไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง จากนั้นนำมาฉายด้วยรังสี UV ทั้งการฉายครั้งเดียว และฉายซ้ำๆ บางครั้งใช้เวลานาน ถึงครั้งละ 20 นาที ถือว่าเป็นการฉายที่แรงและใช้เวลานาน จนพบว่าเซลล์ที่นำมาเพาะเลี้ยง ถูกทำลายจากรังสี UV ที่ฉายลงไป ยิ่งฉายนานเซลล์ก็ตายมากขึ้น และ DNA พันธุกรรมก็เปลี่ยนไป มีแนวโน้มเกิดเป็นมะเร็งได้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่า แสง UV มากไป มีผลต่อร่างกาย- จึงไม่อยากให้ตกใจกันมาก เพราะงานวิจัยทำในเซลล์ ไม่ได้ทดลองกับมนุษย์จริงๆ


อีกทั้งการฉายแสงต่อครั้ง นานกว่า 20 นาที แต่ในทางกลับกัน การใช้รังสี UV ในเครื่องอบเล็บ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น เพื่อให้แสงช่วยให้สารเคมีทำเล็บแข็งตัวได้ดีขึ้น ส่วนคนทำเล็บที่กังวล งานวิจัยก็มีคำแนะนำว่า ให้ป้องกันตนเอง คล้ายกับการป้องกันแสงแดด ขณะที่การเกิดมะเร็ง ไม่ได้เกิดเฉพาะรังสี UV สารเคมีอื่นๆที่ใช้ทำเล็บ ก็มีโลหะหนักและมีสารเคมีหลายตัว ที่เสี่ยงเกิดมะเร็งได้ ดังนั้นจึงอยากแนะนำ คนทำเล็บอย่าทำบ่อยเกินไป และหากต้องใช้รังสี UV ก็อย่าใช้เวลานานเกินไป ซึ่งทางการแพทย์ ก็ไม่ได้ห้ามใช้ รังสี UV อบเล็บ


ด้าน พญ.ชินมนัส เลขวัต (เลข-ขะ-วัต) หัวหน้ากลุ่มงานเส้นผมและเล็บ สถาบันโรคผิวหนัง ระบุว่า งานวิจัยนี้เป็นเพียงทดสอบในห้องปฏิบัติการ ยังไม่เป็นข้อสรุปสำหรับทดสอบในคน และตามปกติแล้วการทำเล็บ ที่ต้องใช้เครื่องอบเล็บ จะใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1-2 นาที จึงไม่อาจจะใช้ข้อสรุปตามงานวิจัยได้ ที่ผ่านมา การทำเล็บคนไข้หลายรายจะมีปัญหาภาวะติดเชื้อ โรคเชื้อราที่เล็บ เนื่องจากเข้ารับบริการที่ร้านไม่ถูกสุขลักษณะ อีกสาเหตุมาจาก ปัญหาของผิวเล็บบางถูกทำลาย เนื่องจาก มีการตะไบเล็บ จึงแนะนำผู้ที่ชื่นชอบทำเล็บควร ควรเว้นระยะเวลาทำเล็บแต่ละครั้ง

คุณอาจสนใจ