สังคม

แพทย์เตือน! แผลแมวกัด มีโอกาสติดเชื้อ 'แบคทีเรียกินเนื้อคน' อาจถึงตายได้

โดย kodchaporn_j

5 มิ.ย. 2564

756 views

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนแผลแมวกัดอาจถึงตายจากแบคทีเรียกินเนื้อคน โดยแผลที่ถูกแมวกัดมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าแผลที่ถูกสุนัขกัดถึง 2 เท่า เพราะแมวมีเขี้ยวแหลมยาวกว่าเขี้ยวสุนัข จึงอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียลึกได้ ผู้ถูกแมวกัดควรสังเกตอาการ หากมีอาการปวดแผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผล ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแนะแนวทางการดูแลรักษาแผลที่ถูกวิธี


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวอุทาหรณ์สาวถูกแมวที่เลี้ยงไว้กัดที่เท้า สุดท้าย เนื้อตาย ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อจากน้ำลายแมว จากข้อมูลดังกล่าว ขอเรียนว่า สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม เพราะความน่ารัก เฉลียวฉลาดของมัน บางครั้งสุนัขและแมวอาจกัดข่วนคนที่เล่นกับมัน เพราะสัตว์เลี้ยงถูกทำให้ตกใจ แมวมีเขี้ยวแหลมยาวกว่าเขี้ยวสุนัข จึงอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียลึกเข้าไปในกระดูกและข้อ


แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของแผลแมวกัด ส่วนมากเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบอยู่บนผิวหนังของคน ที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว แล้วเข้าสู่บาดแผลที่ถูกแมวกัด และผู้ที่ถูกกัดเมื่อไปพบแพทย์หลัง 8 ชั่งโมง มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว


แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม ส่วนมากบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยว โดยรอบๆปากแผล จะมีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง ที่เรียกว่า “แบคทีเรียกินเนื้อคน”


แบคทีเรียจะปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนเกิดอาการปวดแผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื้อตายสีดำเป็นแหล่งที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโต จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล โดยแพทย์จะรีบผ่าตัดเอาเนื้อตายสีดำออกจากแผล และฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด


ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า แนวทางการดูแลรักษาแผลแมวกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ หรือน้ำยาฟอกฆ่าเชื้อ ถ้ามีหนอง ให้เจาะระบายหนอง ถ้าเป็นแผลฉีกขาดเพราะแมวขย้ำ เป็นแผลเปิด ไม่ควรเย็บแผล ปล่อยแผลเปิด และล้างแผล ป้องกันการติดเชื้อลุกลามในเนื้อเยื่อชั้นลึกใต้ผิวหนัง


อย่าลืมฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย หากสัตว์เลี้ยงไม่เคยฉีดวัคซีน คนที่ถูกกัดต้องรีบฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ยาปฏิชีวนะที่ควรใช้ฆ่าเชื้อครอบคลุมแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อ คือ amoxicillin/ clavulanic acid ที่แพทย์จะสั่งจ่าย รับประทาน 7-10 วัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ