ไลฟ์สไตล์

ส่องระบบสาธารณสุขไทย ‘เมื่อหมอป่วย’ ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว

โดย nattachat_c

16 พ.ย. 2565

241 views

เมื่อไม่นานมานี้ มีดรามาในโลกโซเชียล ที่ยังคงถกเถียงกันอย่างร้อนแรง ในตอนนี้ เมื่อปรากฎคลิป ‘หมอโรงพยาบาลเชียงแสน’ ได้โต้เถียงกับคนไข้ โดยทั้งสองต่างใช้คำพูดที่รุนแรง


แต่…เราไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องประเด็นว่า ฝ่ายคุณหมอหรือฝ่ายคนไข้เป็นฝ่ายถูก ซึ่งเราจะมาพูดถึงกรณี ‘เมื่อหมอป่วย’ ต่างหาก และเรื่องนี้ ก็อาจแสดงถึงปัญหาที่มาจากระบบสาธารณสุขไทยได้ไม่มากก็น้อย


เมื่อหมอเป็น ‘ไบโพลาร์’

หลังจากที่มีข่าวออกไป นายแพทย์สุขชัย เธียรเศวตตระกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวว่า แพทย์คู่กรณีมีอารมณ์แปรปรวน เป็นไบโพลาร์  และเคยเกิดกรณีคล้ายกันไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง


ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลยังเคยทำทัณฑ์บน พิจารณาขั้นเงินเดือน และออกคำเตือนหลายครั้ง แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ยังแก้ไม่หาย


‘ไบโพลาร์’ คืออะไร

เมื่อ ผอ.รพ. ได้ออกมาบอกว่า 'แพทย์หญิง' ได้ป่วยเป็นไบโพลาร์ ดังนั้น เราจะมาขออธิบายกันก่อนว่า 'ไบโพลาร์' นั้นคืออะไร ซึ่งความจริงเราเคยเขียนบทความเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว ตามลิงก์นี้ https://ch3plus.com/news/lifestyle/ch3onlinenews/320396


แต่เราจะมาอธิบายง่ายๆ แล้วกัน ว่า โรคไบโพลาร์นั้น ผู้ป่วยจะมีอาการ 2 ขั้ว คือขั้วซึมเศร้า ที่มีอาการคล้ายคนเป็นโรคซึมเศร้า และขั้วแมเนีย ที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว ใจกล้าบ้าบิ่น หงุดหงิดง่าย


ซึ่ง ถ้าเป็นอย่างหนักมากๆ ก็จะมีความผิดปกติด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรง จนทำให้มีความบกพร่องอย่างมากในด้านการงาน หรือกิจกรรมทางสังคมตามปกติ หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น หรือทำให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีอาการโรคจิต


‘ไบโพลาร์’ หาย/บรรเทาได้ ถ้าได้รับการรักษาและบำบัด
'โรคทางจิตเวช' นั้นสามารถรักษาให้หายได้ หรือถ้าไม่หายขาดก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการักษาหรือบำบัดอย่างถูกวิธี ทั้งการหาจิตแพทย์ การทานยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมถึงการบำบัดโดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด 


แต่...จากคำบอกเล่าของ ผอ.รพ.เชียงแสน ซึ่งได้กล่าวว่าแพทย์หญิงป่วยเป็นไบโพลาร์ แต่ยังคงให้แพทย์หญิงทำงานต่อไป อาจจะเนื่องจากการขาดแคลนแพทย์ หรืออะไรก็ตาม 


ทำให้มีคำถามย้อนกลับมาว่า การทำผิดพลาดของผู้ใต้บังคับบัญชาบ่อยครั้ง ทางผู้บริหารควรจะออกมารับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยังค่อยปล่อยให้ 'หมอป่วย' ออกมารักษาคนไข้ 


สิ่งกระตุ้น ‘ระยะแมเนีย’
‘ขั้วแมเนีย’ นั้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการก้าวร้าวและอารมณ์รุนแรงผิดปกติ ซึ่งสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เข้าสู่ ‘ขั้วแมเนีย’ ได้ มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ซึ่งมีอยู่ 2 อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพแพทย์โดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการนอนหลับ และ มีระดับความเครียดสูง


การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการนอนหลับ

ผอ.รพ.เชียงแสน นั้นกล่าวว่า รพ.เชียงแสน เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งโรงพยาบาลขนาดเล็กนี้เอง ทั้งแพทย์และพยาบาล ไม่ได้สัดส่วนอย่างมาก รพ.หลายแห่ง แพทย์ต้องออกตรวจผู้ป่วยนอกตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นไ ม่ต่ำกว่า 300-500  ราย บางแห่งมีจำนวนแพทย์ประจำเพียง 2-3 ท่าน


โดยในการทำงานของแพทย์ไทยนั้น ถึงขั้นมีหมอทำคลิปในยูทูบว่า “เป็นหมออยู่เวร 36 ชั่วโมงในรพ. ทำอะไรบ้าง ?”


ซึ่งการที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก มีแพทย์เพียงไม่กี่คน ทำให้ต้องมีการเข้าเวรติดต่อกัน จะส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการนอนหลับ และ มีระดับความเครียดสูง อย่างแน่นอน (บางทีเราทำงานเกิน 10 ชั่วโมง ก็เครียดแล้วเนอะ นี่ทำงาน 36 ชั่วโมง แล้วต้องรับผิดชอบชีวิตคนอีก คิดดูว่าจะเครียดขนาดไหน)


ซึ่งจากที่กล่าวมา การทำงานแบบเข้าเวรติดต่อกัน ส่งผลต่อพฤติกรรมในการนอนหลับอย่างแน่นอน และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ 'แพทย์หญิง' ต้องเผชิญกับโรคที่เป็นอยู่อย่างหนัก


ปัญหาเรื่องเวลาการทำงานและพักผ่อน

การที่แพทย์ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด หรือพื้นที่ห่างไกล หากปรับตัวกับภาระงานไม่ได้ จะต้องเผชิญความเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับครอบครัวเป็นการกระตุ้นให้ลาออกหรือย้ายออกเร็วขึ้น


ซึ่งจากที่กล่าวมา สิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้แพทย์หญิงในข่าวได้เกิดอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการจัดการไม่ดีของระบบสาธารณสุขไทยนั่นเอง


เมื่อหมอป่วย ก็จำเป็นต้องบำบัด

ตามปกติเมื่อมีการป่วยก็ต้องมีการบำบัด หรือแม้แต่ปัจจุบันที่การเสพยาเสพติด เราก็ถือว่าเป็นผู้ป่วย และต้องได้รับการบำบัดเช่นกัน แต่เมื่อหมอป่วยได้มีการบำบัดอย่างถูกต้องหรือยัง


เมื่อลองย้อนกลับไปฟังคำพูดของ ผอ.รพ.เชียงแสน ซึ่งได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลยังเคยทำทัณฑ์บน พิจารณาขั้นเงินเดือน และออกคำเตือนหลายครั้ง


แสดงให้เห็นว่า ทาง ผอ.มีการลงโทษแพทย์หญิง โดยไม่ได้มีการพาไปบำบัด


นอกจากนี้ ล่าสุด วันที่ 5 พ.ย 65 เพจ โรงพยาบาลเชียงแสน ได้โพสต์ข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า “ขณะนี้ทางคณะกรรมการจังหวัด มีการสั่งพักงานอย่างไม่มีกำหนด และรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป”


ก็ยังแสดงให้เห็นว่าทาง ผอ. ได้ลงโทษแพทย์หญิงโดยการพักงาน แต่กลับไม่มีส่วนไหนเลยที่แสดงให้เห็นว่า จะพาแพทย์หญิงไปบำบัดรักษาอาการป่วย


อาการป่วยทางจิต รู้เร็ว รักษาได้เร็ว และหายได้ (เร็วด้วย)

อาการป่วยทางจิตนั้น การระบุและการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว และการสนับสนุนในการฟื้นตัวต่างๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ จะทำให้การบำบัดเร็วขึ้น และลดอันตรายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยให้เหลือน้อยที่สุด


แต่จากคำพูดของ ผอ.รพ.เชียงแสน ที่แสดงให้เห็นว่า แพทย์หญิงมีอาการมาแล้วหลายครั้ง ซึ่ง ผอ. ทำเพียงแค่ ทำทัณฑ์บน พิจารณาขั้นเงินเดือน และออกคำเตือน ไมได้พาแพทย์หญิงไปบำบัด ซ้ำยังให้ทำงานต่อ ทั้งในเวลาราชการ และเวลาเข้าเวรดึก นั่นยิ่งทำให้อาการของแพทย์หญิงยิ่งหนักขึ้น


ซึ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าแพทย์หญิงได้รับการบำบัดตั้งแต่ครั้งแรกที่มีอาการเกิดขึ้น เหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นข่าวดังอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้


‘แพทย์’ ป่วยทางจิต ตั้งแต่ก่อนเป็นแพทย์

จากบทความ Professional Stigma of Mental Health Issues: Physicians Are Both the Cause and Solution โดย เค.เจ. บราวเออร์ (K.J. Brower) ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่สุขภาพของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยมิชิแกน


นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน (แพทย์ที่เข้ามาศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่ง) มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเป็นพิเศษ


โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ก่อนที่จะเรียนแพทย์นั้น นักเรียนมีอาการของความเหนื่อยหน่าย และภาวะซึมเศร้าน้อยกว่าหรือพอๆ กับเพื่อน แต่เมื่อศึกษาระยะยาวต่อไป แสดงให้เห็นว่าอาการซึมเศร้าของนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 14% ระหว่างเรียนแพทย์


ซึ่งนักศึกษาแพทย์นั้น มีอัตราการเป็นซึมเศร้ามากถึง 18% และเมื่อเป็นแพทย์ประจำบ้านอัตราการเป็นซึมเศร้าเพิ่มเป็น 21% ทั้งที่อัตราการเป็นซึมเศร้าของคนที่มีอายุ 18-29 มีอัตราแค่ 13% เท่านั้น


ทั้งนี้ ศาสตราจารย์บราวเออร์ ได้กล่าวว่า เรากลัวว่าหากเราเปิดเผยความเจ็บป่วยกับเพื่อนร่วมงาน และขอความช่วยเหลือ พวกเขาจะตัดสินเราว่าอ่อนแอ และไม่สามารถทำงานของเราได้ ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราคือการทำให้อาชีพของเราตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อใบอนุญาต (ใบประกอบโรคศิลป์)


สุขภาพจิตของนักศึกษาแพทย์ไทย: การประเมินก่อนเข้ารับการรักษาและการใช้บริการ

จากบทความ Mental health among Thai medical students: Preadmission evaluation and service utilization โดย Sorawit Wainipitapong, Mayteewat Chiddaycha


ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลจากนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงปีที่หกทั้งหมดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งและโรงพยาบาลในเครืออีกสามแห่งในช่วงปีการศึกษา 2557 ถึง 2562 จำนวน 1642 ตัวอย่าง


ความชุกของสุขภาพจิตไม่ดีอยู่ที่ 3.7% สัดส่วนของนักเรียนทุกคนที่ขอรับบริการด้านสุขภาพจิตคือ 8.3% และส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า (3%) ความผิดปกติของการปรับตัว (1.9%) และโรควิตกกังวล (1.9%)


ขณะเดียวกัน ก็มีบทความ “ศึกษาภาวะซึมเศร้าของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่6 จากศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” โดย กาญจนา วงศ์ศิริ


ซึ่งผลการศึกษา พบภาวะซึมเศร้าทั้งหมด 8 คน จากจำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 16 โดยพบว่า 5 คนมีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 10 พบว่ามี 1 คนมีภาวะซึมเศร้าไม่ถึงขั้นรุนแรง คิดเป็นร้อยละ 2 และ พบว่ามี 2 คน มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงคิดเป็นร้อยละ 4


ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน เท่ากับว่า คนไทยป่วยเป็นเป็นซึมเศร้าประมาณ 2.2%


ดังนั้น เมื่อนำข้อมูลมาเทียบกัน นักศึกษาแพทย์นั้นมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าอัตราการป่วยเป็นซึมเศร้าของคนไทยเสียอีก


ซึ่งความเครียด อาการป่วยทางจิตนั้นก็มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความยากในการเรียน การปรึกษารุ่นพี่ การโดนอาจาร์หมอดุ และอื่นๆ


ในบทความ Mental illness and suicide among physicians (ความเจ็บป่วยทางจิตและการฆ่าตัวตายของแพทย์) ซึ่งเขียนโดย ผู้เชี่ยวชาญ และศาสตรจารย์หลายคน


ได้สรุปว่า สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของแพทย์ถูกละเลยมานานเกินไป มีหลักฐานอย่างท่วมท้นว่า แพทย์ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วยทางจิต และในความเป็นจริง มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มวิชาชีพอื่นๆ


และในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 อาจทำให้สถานการณ์นี้แย่ลง จำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของแพทย์ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพการงาน


มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การฝึกอบรมแพทย์ สภาพการทำงาน และการสนับสนุนบางอย่างไม่เป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญ ยังรับรู้ด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในการฝึกอบรมทางการแพทย์และระบบสุขภาพในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ได้ขยายปัญหาเหล่านี้ และกัดเซาะปัจจัยป้องกันที่เคยชดเชยความเสี่ยงในการทำงานของแพทย์


ปัญหาทั่วไป เช่น ภาระการบริหาร และระบบราชการ ความไม่มั่นคงในการทำงาน การควบคุมงานลดลง และการเปลี่ยนแปลงอายุ และลำดับความสำคัญของผู้สำเร็จการศึกษาทางการแพทย์ ปรากฏให้เห็นในวงการแพทย์นานาชาติ และอาจช่วยอธิบายปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นในหมู่แพทย์ได้


และมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของแพทย์ที่ทำงานใน LMIC (ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง) แพทย์เหล่านี้อยู่ภายใต้ความเครียดอย่างมาก จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มเพื่อทบทวนเงื่อนไขการฝึกอบรมและการจ้างงานของแพทย์อย่างจริงจัง


ซึ่งจากเหตุผลต่างๆ นานา ที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า อาการป่วยทางจิต ภาวะทางจิตของแพทย์นั้น แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ไม่ดีของระบบสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ มหาวิทยาลัยแพทย์ ผอ.โรงพยาบาล หน่วยงานที่สูงกว่านั้น รวมไปถึงหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดอย่างกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้เสียที จนทำให้เกิดเคสแบบแพทย์หญิงขึ้น


และแน่นอนว่า เมื่อไม่ได้รับการแก้ไข และยังมีการผลักปัญหาของผู้ใหญ่ไปให้แพทย์ชั้นผู้น้อยอย่างนี้ต่อไป อีกไม่นานก็จะเกิดเคสแบบนี้อีก กลายเป็นปัญหาที่หมักหมมจนเน่าเละ และในขั้นเลวร้ายที่สุด เราอาจจะพบว่าไม่มีนักเรียนมัธยมคนไหน ที่อยากจะเรียนแพทย์อีกต่อไป


ทิ้งท้าย ขำๆ แต่อาจไม่ขำ สำหรับหมอ เมื่อหมอ ‘ไม่สั่ง KFC’

สำหรับแพทย์แล้ว การเข้าเวรดึกถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ซึ่งหลายคนก็ได้ชินชากับระบบงานแบบนี้ไปแล้ว เพียงแต่ภาวนาว่า อย่าให้เวรเยินพอ


ในวันที่ 6 พ.ย. 65 เพจ ไม่ใช่หมอบ่น-aggressivenotdoctor ได้โพสต์ภาพว่า “เกลียดหมออยู่เวรไม่ต้องไปด่าหมอหรอก สั่ง KFC ไปให้หมอที่ รพ. ก็พอ” ซึ่งในภาพก็มีคนมาถามว่าไม่เก็ทมุกนี้ จนมีคนมาตอบว่า มันเป็นมุกของวงการแพทย์ ที่ว่า ถ้าวันไหนอยากกิน KFC วันนั้น เวรจะยุ่งมากจนไม่มีเวลากิน


เชื่อไหมว่า ถึงแม้ว่ามันจะออกแนวความเชื่อ ไม่มี Evidence Base ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เหล่าแพทย์ต่างก็มาคอมเมนต์กันแบบคับคั่งเกือบ 200 เมนต์


ซึ่งต่างก็บอกตรงกันว่า KFC, PIZZA และ ส้มตำ คือ 3 สิ่งต้องห้าม ที่ห้ามสั่งตอนเข้าเวรดึก เพราะสั่งทีไร ‘เวรเยิน’ เมื่อนั้น


บางคนถึงกับบอกว่า สั่ง KFC มาตอนหนึ่งทุ่ม ยังไม่ทันได้แตะสักชิ้น หลังจากนั้น ‘เวรเยิน’ รัวๆ ได้เข้าห้องอีกทีตอนตี 4


บางคนก็เมนต์ทำนองว่า ได้ยินเรื่องนี้แต่ไม่เชื่อ ก็เลยลองสั่ง แล้วผลที่ปรากฎก็คือ เวรเยิน’ จนไม่กล้าที่จะสั่งอีก


บางคนถึงขั้นบอกว่า ‘ใจร้ายสุด’ ถ้าทำแบบนั้น


เป็นอย่างไรล่ะ หมอไทยเราทำได้แทบทุกอย่าง ยกเว้น สั่ง 'KFC - PIZZA - ส้มตำ' ก่อนเข้าเวร

------------------

คุณอาจสนใจ

Related News