อาชญากรรม

ปคบ.ทลายแหล่งขายเครื่องสำอางเถื่อน-น้ำยายืดผมปลอม ยึดเกือบ 3 หมื่นชิ้น

โดย nutda_t

17 ม.ค. 2567

929 views

พลตำรวจตรี วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ร่วมกันแถลงผลทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม พร้อมตรวจยึดของกลาง 90 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท


โดยคดีนี้ ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากอย.ให้ดำเนินการตรวจสอบ การลักลอบผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ผ่านทางแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ชุดสืบจึงทำการสืบสวนและทราบสถานที่ผลิตรวมไปถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์


ต่อมาวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา กองกำกับการ 4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย.นำหมายค้นของศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่ในจ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด


จุดแรกเป็นสถานที่จัดเก็บและส่งสินค้าอยู่ในต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พบ นางบุญมี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ พร้อมกับตรวจยึดเครื่องสำอางต้องห้าม 77 รายการ จำนวน 19,667 ชิ้น ซึ่ง นางบุญมี ได้ให้การว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของนางสาวศิริลักษณ์ และตนเป็นลูกจ้างของนางสาวศิริลักษณ์เท่านั้น

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นจุดที่ 2 ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตในพื้นที่ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งจุดนี้พบนายอิทธิพล แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ พร้อมกับตรวจยึดเครื่องจักร วัตถุดิบในการผลิตครีม ภาชนะบรรจุ และยาทาภายนอกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์จำนวน 73 กระปุก มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

รวมผลการตรวจคนทั้งหมด 2 จุด ตรวจยึดของการจำนวน 90 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

นายอิทธิพล ให้การว่า ตนเป็นสามีของนางสาวศิริลักษณ์ และรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการผลิต โดยใช้บ้านพักดังกล่าวเป็นสถานที่ผลิต จากนั้นจะนำมาจัดเก็บเพื่อรอการบรรจุและจำหน่ายให้กับลูกค้า ส่วน นางสาวศรีรักษ์ เป็นผู้ดูแลการจำหน่ายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ และทำมาแล้วประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัว นางสาวศิริลักษณ์

ส่วนอีกคดีที่ บก.ปคบ.แถลงผลการจับกุม คือการทลายโกดังทุนจีน พร้อมกับยึดเครื่องสำอางเถื่อนและน้ำยายืดผมปลอม หลังพบผู้บริโภคใช้แล้วผมร่วง มูลค่ากว่า 400,000 บาท


คดีนี้จุดเริ่มต้นมาจากเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง ได้มีการโพสต์ภาพวิดีโอที่มีผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยายืดผมแล้วเกิดผมหลุดร่วงเป็นจำนวนมาก กระทั่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้นำหมายค้นของศาลแขวงบางบอน เข้าตรวจค้นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้าในพื้นที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพฯ พบ นางสาวอัลยา แสดงตัวผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว พร้อมกับตรวจยึดเครื่องสำอางปลอมที่ไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งและไม่แสดงฉลากภาษาไทยจำนวน 15 รายการ จำนวน 13,392 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 338,000 บาท

จากการสืบสวนขยายผลพบว่า ร้านดังกล่าวมีเจ้าของเป็นกลุ่มนายทุนจีนซึ่งเป็นกลุ่มทุนเดียวกัน โดยมีการนำเข้าน้ำยายืดผมปลอมและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางข้างต้นมาจากประเทศจีน แล้วนำมาจัดเก็บไว้ที่โกดังย่านบางบอน เพื่อรอการจำหน่าย โดยมียอดขายต่อเดือนประมาณ 3 ล้านชิ้น และทำมาแล้วประมาณ 1 ปี


ซึ่ง นางสาวอัลยา ไม่ได้ให้การซัดทอดไปถึงนายทุนชาวจีน แต่ปรากฏตามพยานหลักฐานว่านายทุนจีนคนดังกล่าว เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป

คุณอาจสนใจ