สหภาพฯ รฟท. ยันชัดค้านปิด 'หัวลำโพง' ชี้เป็นนโยบายเอื้อนายทุน อดีต สว.หนุนทำประชามติ

สังคม

สหภาพฯ รฟท. ยันชัดค้านปิด 'หัวลำโพง' ชี้เป็นนโยบายเอื้อนายทุน อดีต สว.หนุนทำประชามติ

โดย pattraporn_a

7 ธ.ค. 2564

71 views

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ รวมตัวประกาศจุดยืนคัดค้านแผนการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง หวั่นกระทบผู้ใช้บริการ ขณะอดีตผู้ว่าการรถไฟเสนอให้ใช้ประโยชน์ทั้งชุมทางบางซื้อและหัวลำโพง พร้อมตั้งข้อสังเกตุที่กระทรวงคมนาคมมุ่งปรับปรุงหัวลำโพง ทั้งที่มีที่ดินการรถไฟอีกมาก ที่พร้อมพัฒนาแก้ปัญหาขาดทุน


จนถึงขณะนี้แนวทางบริหารสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพง ยังไม่ชัดเจนว่า หลังวันที่ 23 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะต้องหยุดเดินรถไฟทุกขบวนเข้าหัวลำโพง โดยเหลือเพียงขบวนชานเมืองหรือไม่ โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14 ที่จะถึงนี้


แต่ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะคัดค้านแนวคิดหรือนโยบาย ที่จะหยุดเดินรถเข้าหัวลำโพง โดยอ้างอิงทั้งจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่รถไฟเป็นจุดกำเนิดการขนส่งทางรางของไทย และความจำเป็นของผู้ใช้บริการ


ขณะที่การจัดเสวนา “ปิดหัวลำโพง เพื่อการพัฒนา หรือผลักภาระให้ประชาชน” ที่สหภาพฯ แรงงานรถไฟจัดขึ้น มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือคัดค้านการหยุดเดินรถเข้ามาหัวลำโพง


โดยอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าในช่วงที่มีแผนพัฒนาสถานีชุมทางบางซื่อ ก็ไม่เคยมีแนวคิดจะปิดหัวลำโพง และยังสนับสนุนให้รถทางไกลวิ่งมาถึงหัวลำโพงด้วย และระบุว่าการที่อ้างว่ารถไฟขาดทุน กว่า 1 แสน 9 หมื่นล้าน จำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นเห็นว่ามีพื้นที่อื่นอีกมาก ที่จะพัฒนาได้เหมือนกับหัวลำโพง และที่นี่ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดเดินรถแต่อย่างใด ตรงกันข้ามที่ระบบทางราง ควรได้รับการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาจราจร มากกว่าจะมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาจราจร


ขณะที่อดีต สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ เห็นว่ากลุ่มทุนกำลังจะพัฒนาหัวลำโพง ให้เป็นเพียงประตูเข้าห้างสรรพสินค้าที่จะสร้างใหม่ และเสนอทำประชามติ หรือให้พรรคการเมืองออกเป็นนโยบาย เพื่อดูว่าประชาชนจะสนับสนนุนแนวคิดใดในการบริหารหัวลำโพง


ขณะที่ออกแถลงการณ์เสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง 3 ประเด็นหลักคือ


1.ให้มีรถชานเมืองทุกสาย และรถบริการเชิงสังคมทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวนเข้าหัวลำโพง

2.ให้รัฐบาลเพิ่มความสำคัญกับการขนส่งทางรางเต็มระบบ ขยายทางยกระดับข้ามทางรถไฟ หรือขุดอุโมงค์ที่ถนนตัดผ่านเสมอระดับทางที่ยมราช และรัฐบาลเร่งรัดโครงการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วต่อขยายให้เต็มรูปแบบ 

3 .การพัฒนาที่ดินการรถไฟเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ควรพัฒนาพื้นที่ซึ่งพร้อมก่อน เช่นพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร หรือแม้แต่ต่างจังหวัดที่พร้อมกว่าหัวลำโพง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวไม่ควรกระทบต่อผู้ใช้บริการแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในวันนี้คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็น ขณะที่กระทรวงคมนามคมมีกำหนดจะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News