ประยุทธ์ ยันไม่เคยรับปากเรื่อง 'นิคมจะนะ' โบ้ย 'ธรรมนัส' ให้ความหวังจนสร้างปัญหา

สังคม

ประยุทธ์ ยันไม่เคยรับปากเรื่อง 'นิคมจะนะ' โบ้ย 'ธรรมนัส' ให้ความหวังจนสร้างปัญหา

โดย pattraporn_a

7 ธ.ค. 2564

79 views

จากเหตุการณ์เมื่อคืนที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่มาปักหลักทวงสัญญาจากรัฐบาล ที่เคยมีการลงนามความตกลงว่า จะศึกษาโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลาใหม่อีกรอบ แต่ไม่เป็นไปตามที่คุยไว้


หลังการมาชุมนุมของ 'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' อยู่ข้างทำเนียบรัฐบาลไม่กี่วัน ก็ถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และจับชาวบ้านไป 37 คน ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำเกินกว่าเหตุ


นายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่า จำเป็นต้องดำเนินการ เพราะมีข้อมูลว่า จะมีคนมาสมทบร่วมชุมนุมเพิ่มอีก แต่สั่งการไปแล้วไม่ได้ไปลงโทษมากมาย แค่ตักเตือน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า จะให้ ศอบต. และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปติดตามข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะแก้ไขอย่างไร


ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรี ได้เปรยขึ้นว่า เคยเตือนไปแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามเวลาไปเจรจาเรื่องต่าง ๆ อย่าไปรับปาก ถ้ายังไม่ได้เข้า ครม. และย้ำว่า ตนและครม.ยังไม่เคยตกลงเรื่องนี้ ซึ่งในที่นี้ น่าจะหมายถึง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาล ในการลงนามข้อตกลงกับชาวบ้าน


และวันเดียวกันนี้ ร้อยเอกธรรมนัส ก็ได้ออกมาชี้แจงทันทีว่า ไม่ได้ไปให้คำมั่นสัญญาเอง แต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งตนเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และมีการเสนอข้อตกลง หรือ MOU ที่ทำร่วมกับชาวบ้านจะนะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว


ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น วันนี้ ลูกหลานของเครือข่ายที่ถูกจับไปเมื่อคืน ได้มาอ่านแถลงการณ์ ยืนยันจะปักหลักสู้ต่อไป มีการระบุว่า ไม่มีใครอยากมานั่งประท้วงข้างถนน ถ้าไม่เดือดร้อนจริงๆ  หากไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าจะยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก็จะไม่ไปไหน แม้จะถูกจับอีกกี่รอบก็ตาม โดยขอให้ชีวิตเป็นเดิมพันในการต่อสู้ พร้อมยืนยันว่า ปีที่แล้ว การลงนามข้อตกลงกับร้อยเอกธรรมนัส คือทำในนามชาวบ้านกับตัวแทนรัฐบาล รัฐบาลจึงควรยึดตามข้อตกลง คือ ให้มีการศึกษาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่


ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้ง 37 คน ตำรวจได้คำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ กีดขวางการจราจร ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยนัดให้ชาวบ้านไปรายงานตัวที่ สน.ดุสิต ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ก่อนจะปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมในลักษณะเดิมอีก หากฝ่าฝืนจะเพิกถอนประกันตัว อย่างไรก็ตามชาวบ้านปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ