ชาวบ้านเดือดร้อน โดนยึดบ้าน - ที่ดิน หลังตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กู้เงิน 1 ล้าน แต่ผ่อนไม่ไหว

สังคม

ชาวบ้านเดือดร้อน โดนยึดบ้าน - ที่ดิน หลังตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กู้เงิน 1 ล้าน แต่ผ่อนไม่ไหว

โดย sujira_s

24 ต.ค. 2564

3.7K views

เพชรบูรณ์ - ชาวบ้านลูกหนี้ธนาคารนับ 10 รายเดือดร้อนหนัก หลังถูกบังคับคดียึดบ้าน ขายทอดตลาด เหตุเพราะกู้เงินเล็กน้อย แต่กลับต้องมาใช้หนี้ก้อนโต แถมบางรายไม่ได้ใช้เงินสักแดง แต่เพราะเป็นกรรมการร่วมกู้ เลยถูกยึดทั้งบ้าน ทั้งที่นา จนอนาคตไม่มีที่จะซุกหัวนอนแล้ว ชาวบ้านบางราย เผย ถูกเจ้าหน้าที่ธนาคาร หลอกไปสำนักงานบังคับคดี บอกมีของขวัญปีใหม่จะมอบให้ แต่พอไปถึง กลับให้เซ็นต์เอกสาร รู้ตัวอีกที ก็ถูกบังคับคดียึดทรัพย์


วันนี้ (24 ต.ค. 64) ชาวบ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ ที่ 3 ตำบลโคกสะอาด อ.ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน นับร้อยราย ที่มีการไปกู้เงินจากธนาคาร ออมสิน กำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก หลัง ชาวบ้านนับ 10 ราย ได้ถูกบังคับคดี ให้ยึดบ้าน และที่ดินทำกิน ขายทอดตลาด ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ชาวบ้าน มีการตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มัดหมี่ศรีเพชร และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน แชมพู และได้มีการกู้เงินจากธนาคารออมสิน เป็นจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อ 21 ธันวาคม 2561 มาลงทุน โดย มีนางประนอม วรรณสุข อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/1 หมู่ 3 ตำบลโคกสะอาด อ.ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมัดหมี่ศรีเพชร และ ประธานวิสาหกิจชุมชน แชมพูมะกรูด เป็นผู้ยื่นกู้ โดยมีกรรมการ เป็นผู้กู้ร่วม ซึ่งในกลุ่ม มีกรรมการ ทั้งสิ้น 14 คน รวมทั้งตัวประธานฯ


สุดท้าย ทางกลุ่มเกิดประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เมื่อช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 จึงขาดสภาพคล่องในการส่งชำระหนี้ ทั้งจากการกู้เงินของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มัดหมี่ศรีเพชร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแชมพูมะกรูด และ มีการกู้เงินกลุ่ม หรือชาวบ้านเรียกกันว่า กู้ 3 ขา จากธนาคารออมสิน คือ ในกลุ่มที่กู้มีสมาชิก 3 คน และทุกคนจะต้องเป็นทั้งผู้กู้ และเป็นทั้งผู้ค้ำประกันกันเองภายในกลุ่ม


สุดท้าย เมื่อเกิดปัญหาที่นา ของนางลำดวน หะสิตะ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 319 หมู่ 3 ต.โคกสระอาด อ.ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มัดหมี่ศรีเพชร ต้องถูกสำนักงานบังคับคดี ทำการประกาศยึดที่บ้าน พร้อมทั้งที่นา ขายทอดตลาด โดยที่นา จำนวน 1 แปลง ของนางลำดวน มีเนื้อที่จำนวน 12 ไร่ ราคาซื้อขาย ในพื้นที่ตกไร่ล่ะ 150,000 บาท หรือมีมูลค่าการขายในพื้นที่ ราว 1 ล้าน 8 แสนบาท


แต่ราคาประเมินของสำนักงานบังคับคดี อยู่ที่ไร่ล่ะ 7 หมื่น ส่วนที่บ้านที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนเทศบาล ราคาซื้อขายในพื้นที่ อยู่ที่ งานล่ะ 2 แสนบาท โดยนางลำดวน มีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมเนื้อที่ 2 งาน 87 ตารางวา หรือ คิดเป็นเงิน 574,000 บาท ในราคาชาวบ้านซื้อขายกันเอง ซึ่งเฉพาะตัวบ้านของ นางลำดวน ก็ได้ใช้เงินดำเนินการปลูกสร้าง ไปราว 8 แสนบาท เมื่อ ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้านางลำดวน ประกาศจะขายบ้านหลังนี้ในราคา 1,200,000 – 1,500,000 บาท ก็จะมีชาวบ้านรีบมาซื้อบ้านพร้อมที่ดินแปลงนี้ทันที


โดยนางลำดวน เผยว่า ตนถูกยึดทรัพย์ จากสำนักงานบังคับคดี หลังศาลมองว่า บรรดาลูกหนี้ของธนาคารออมสิน ที่กู้ร่วมกัน ไม่มีการกระตือรือร้น ในการชำระหนี้ หรือ ออกมาพบเจ้าหนี้ ตามวันเวลาที่นัด จึงถูกตัดสินให้ยึดทรัพย์ แต่ชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้ทุกคนกลับยืนยันว่า ไม่เคยเห็นหนังสือทวงหนี้ หรือแม้กระทั่งใบนัดให้ไปขึ้นศาล จึงไม่มีใครได้ไปผัดผ่อนหนี้สิน จำนวนดังกล่าว ซึ่งวันนี้นางลำดวน ถูกยึดทั้งบ้านทั้งที่นา ได้ร้องให้ทั้งน้ำตา วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานกระทรวงยุติธรรม และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาช่วยเหลือ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะไม่รู้ว่าต่อจากนี้ จะหาที่ซุกหัวนอนได้ที่ไหน คงไม่พ้นศาลาที่พักริมทาง


นอกจากนี้ นางลำดวน ยังเผยอีกว่า ตนเองมาทราบว่าบ้านถูกยึด และ ถูกขายทอดตลาด เอาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เพราะผู้ซื้อบ้านคนใหม่ เข้ามาถ่ายรูปบ้าน จึงรู้ว่ามีการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด ในครั้งแรก มีการประเมินราคาบ้าน พร้อมที่ดิน จำนวน 2 งาน 87 ตารางวา ที่อยู่ในเขตชุมชนเทศบาล ในราคาเพียง 316,171 บาท ซึ่งครั้งนั้น ไม่มีการซื้อขายทรัพย์สิน พอเปิดขายทรัพย์สินทอดตลาด ครั้งที่ 2 นางลำดวน และคณะกรรมการ บางส่วน ได้เดินทางไปคัดค้าน และขอความเมตตา จากสำนักงานบังคับคดี และทางธนาคาร


ซึ่งครั้งนั้นชาวบ้านอ้างว่า มีการเจรจารับปาก จากทางเจ้าหน้าที่ ธนาคาร ว่าจะไม่นำบ้านพร้อมที่ดิน ของนางลำดวน มา เปิดขายทอดตลาด อีก โดยให้ระยะเวลาในการหาเงินมาชำระหนี้ ทำให้นางลำดวน เกิดความชะล่าใจ แต่กลับมีการเอาที่ดิน พร้อมบ้าน ออกมาเปิดขายทอดตลาด เป็นครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ตามลำดับ สุดท้ายจึงได้มีการซื้อที่ดิน พร้อมที่นา แปลงดังกล่าว ในการขายทอดตลาดในครั้งที่ 4 ในราคาเพียง 235,000 บาท โดยที่ผู้ซื้อรายใหม่ จะต้องรับใช้หนี้สิน ของนางลำดวน ที่ติดอยู่กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ไปด้วย อีกจำนวนราว 1 แสนบาท ซึ่งเจ้าตัว หลังทราบเรื่อง จึงติดต่อขอซื้อบ้านคืนจากผู้ซื้อรายใหม่ โดยผู้ซื้อรายใหม่ บอกว่าเห็นใจ และยอมขายคืนนางลำดวน ในราคา 2,500,000 บาท แต่สามารถต่อรองราคาได้แค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น


นอกจากนี้ ยังมีหนังสือจากสำนักงานบังคับคดีมาถึงบ้าน ชาวบ้าน นับ 10 ราย ที่กำลังจะถูกธนาคาร บังคับคดี โดยชาวบ้านยืนยันว่า ไม่เคยมีเอกสารทวงหนี้ รวมทั้งเอกสาร ให้ไปขึ้นศาล มาถึงมือ ซึ่งชาวบ้านสงสัยว่า เอกสารเหล่านี้ถูกส่งไปที่ไหนกันแน่ แต่ประธานกลุ่มวิสาหกิจ กลับให้ข้อมูลตรงกันข้าม ว่ามีการส่งเอกสารมาถึง สมาชิก แต่ทางสมาชิก กลับบอกว่าไม่รู้เรื่องเอกสาร ชาวบ้านบางราย ยังบอกกับผู้สื่อข่าวอีกว่า เคยถูกเจ้าหน้าที่ธนาคาร หลอกให้ไปที่ สำนักงานบังคับคดี บอกมีของขวัญปีใหม่จะมอบให้ แต่พอไปถึง กลับให้เซ็นต์เอกสาร รู้ตัวอีกที ก็ถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์


แถมชาวบ้านบางคน ยังบอกอีกว่า ตนเองกู้เงินไปแค่ 5 หมื่นบาท แต่อยู่ ๆ ยอดเงินกู้ในเอกสารของทางธนาคาร กลับมียอดเพิ่มเป็นหลักแสน ซึ่งมีผู้เดือดร้อน จำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านบางคน อ้างว่า มีการนำเงินไปส่งงวด ให้กับทางธนาคาร แต่กลับถูกปฏิเสธจากทางเจ้าหน้าที่ธนาคาร ว่าทางธนาคารยังไม่ได้รับเงินชำระค่างวด จากชาวบ้านรายดังกล่าว ทั้งที่ชาวบ้านได้แสดงเอกสาร เป็นใบเสร็จที่ออกให้โดยทางธนาคาร ให้เจ้าหน้าที่ดู แต่คำตอบที่ได้คือ ใบเสร็จไม่สำคัญ สำคัญที่ระบบในคอมพิวเตอร์ ไม่มียอดชำระเงินในระบบ คือจบ เพราะคอมพิวเตอร์โกหกใครไม่เป็น


จากการสอบถาม นางลำดวน หะสิตะ อายุ 59 ปี ชาวบ้านซึ่งถูกสำนักงานบังคับคดีประกาศยึดบ้าน พร้อมที่นา ขายทอดตลาด กล่าวว่า ตนเองเป็นกรรมการของวิสาหกิจทอผ้า ซึ่งมีการไปกู้เงินที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งตนเองเป็นกรรมการ เขาให้แต่ไปเซ็นต์ แต่ไม่ได้เอาเงินไปใช้ ไม่รู้ว่าเอาเงินไปทำอะไร แต่เพราะเป็นกรรมการ ต้องใช้หนี้ร่วม ภายหลังถูกธนาคารทวง ส่วนเงินนั้นไม่รู้เอาไปไหน วันนี้ถูกธนาคารยึดทั้งที่บ้านทั้งที่นา ไปขายทอดตลาด โดยกรมบังคับคดี ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าตนเองจะไปอยู่ที่ไหนเลย เขาจะมาไล่ตนแล้ว ในวันที่ 1 ตนเองยังไม่มีจะอยู่เลย ทั้งชีวิต ทำมาสร้างบ้าน เขาจะเอาไปเฉย ๆ ทางธนาคาร แจ้งตนเองมีหนี้ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยเท่าไรก็ไม่รู้ เงินตนเองก็ไม่รู้ว่าจำนวนเงินเท่าไรกันแน่ กรรมการทั้งหมด ก็ไม่มีใครได้ใช้เงิน บ้านก็มาถูกยึด รวมไปถึงที่นา แล้วจะให้ตนทำยังไง ที่นาก็ไม่ใช่ของตนคนเดียว เป็นมรดกของแม่ ยังไม่ทันได้แบ่งกัน ก็มาถูกยึดที่ไปหมดแล้ว เจ้าของใหม่ก็จะมาไล่ที่แล้ว ตนเองจะไปอยู่ไหน ทั้งลูก ทั้งสามี จะไปอยู่ที่ไหนกัน


ส่วนเจ้าของบ้านคนใหม่ที่ซื้อไป ซื้อไปในราคา 230,000 บาท แต่เขาก็เห็นใจ แต่เขาจะขายคืนให้ในราคา 2,500,000 บาท ตามที่เขาซื้อตามกฎหมาย ทีนี้มีการต่อรองกัน เหลือ 2 ล้านบาท แต่ตอนนี้ตนไม่มี เขาจะให้ตนเองวางมัดจำ อยากให้คนซื้อเห็นใจ เอาน้อย ๆ หน่อย


ด้าน นายสนั่น วรรณสุข อายุ 62 ปี เผย การกู้เงินจำนวน 1 ล้านบาท เป็นการกู้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 42 มีการเริ่มกู้ ภายหลัง ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทางสมาชิกกลุ่ม ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ การแพร่ระบาด ของไวรัส โควิด-19 จึงมีปัญหาการส่งธนาคาร เท่าที่รู้มีหลายราย ที่โดนแบบนี้ โดยตนเองก็ชำระ 1 หมื่นของเดือนที่แล้ว แต่ธนาคารปฏิเสธว่าไม่มี อ้างว่าระบบคอมพิวเตอร์โกหกใครไม่เป็น ซึ่งเราก็ไม่รู้ มีเพียงถือใบเสร็จไว้ยืนยัน แต่เขาไม่ขอดูใบเสร็จ พูดในที่บังคับคดีเลย และในส่วนที่ของธนาคารปฏิเสธว่าไม่ใช้หนี้นั้น ต้องให้เจ้าตัวมายืนยัน แต่รู้ๆก็มีหลายคน ที่มาเล่าให้เราฟัง ซึ่งทุกคนต่างพากันสงสัยในระบบธนาคาร และไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงย้อนกลับไปที่กรมบังคับคดี ทางเจ้าหน้าที่ถามว่า ลุงได้ส่งทุกเดือนไหม ตนก็ยื่นใบเสร็จให้ดู เขาก็บอกลุงส่งทุกเดือนนี่ แล้วทำไมธนาคารออมสินไม่ทำเรื่องระงับส่งมาหาเรา ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้องผิดที่ออมสิน ต้องรับผิดชอบ ก็ได้ยินกันทุกคนที่ไป แล้วก็พากันถามว่า จะให้พวกลุงทำยังไง ก็ได้คำตอบว่า ตอนนี้เราขายไปแล้ว ลุงต้องไปคุยกับคนที่เขาขายอย่างเดียว


ขณะที่นางรุ่งรัตน์ แก้วกอง อายุ 65 ปี หนึ่งในคณะกรรมการวิสาหกิจ ผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ตนเองก็ได้รับความเดือดร้อน หากว่าประธานไม่ส่งตามปกติ ก็จะโดนยึดบ้าน ซึ่งมีพื้นที่เพียง 25 ตารางวา ซึ่งอยู่ในชุมชน แต่เขาบอกว่าไประงับไว้แล้ว 1 ปี วันนี้อยากให้มีหน่วยงาน มาดูแลช่วยเหลือ


นอกจากนี้ นางนกแก้ว ทองกลัด อายุ 59 ปี ซึ่งก็เป็นชาวบ้านอีกรายที่กำลังจะถูกยึดบ้าน กล่าวว่า เล่าว่า ตนเองกำลังจะถูกยึดทั้งที่และบ้าน หลังจากไปโดนเงินกลุ่ม ซึ่งเป็นกรรมการ วงเงิน 1 ล้าน โดยที่ไม่เคยเห็นเงินและได้ใช้เงินแม้แต่สลึงเดียว แต่ถูกบังคับให้ใช้หนี้ ซึ่งตนเองก็ได้ไปดำเนินการ ที่กรมบังคับคดี เพื่อขอระงับไว้ 1 ปี โดยหากทางประธานกลุ่มที่เอาเงินไปใช้ ไม่ยอมส่งเงินล้านอีก เขาก็จะยึดบ้านขายทอดตลาด ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก


ทางด้าน นายภิรมย์ อินปาน อายุ 62 ปี หนึ่งในกรรมการวิสาหกิจ กล่าวว่า ในส่วนของผู้เสียหาย ส่วนมากจะเอาเงินไปหลายกลุ่ม กู้กันไป กู้กันมา เลยทำให้มีผู้เสียหายนับร้อยคน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนกันมาก และแต่ละคนก็ไม่รู้ว่าเป็นหนี้แบงก์กันเท่าไร ไม่ต่างอะไร กับรอวันโดนเชือด อยากให้มีหน่วยงาน เข้ามาให้ความช่วยเหลือบ้าง


ขณะที่ นางประคอง รอดเรือง อายุ 55 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า เล่าว่า ตนเองเคยไปกู้เงิน ยอด 50,000 บาท ก่อนยอดจะเพิ่มมาเป็น 100,000 บาท ทำให้เกิดความเอ๊ะใจ เนื่องจากส่งจะหมดอยู่แล้ว ยอดกลับเพิ่มขึ้น เรื่องเลยแดงขึ้นมา ซึ่งตนเองไม่รู้ว่าใครเป็นคนกู้เพิ่ม มารู้ก็ตอนแบงก์แจ้งให้ชำระหนี้ 1 แสน โดยตอนนั้น เจ้าของที่คนที่เราไปกู้ ชื่อว่า สนั่น บอกว่าจะรับผิดชอบเอง ไม่ต้องเดือดร้อน ก่อนที่จะมีการแอบไปขอกู้ยอดเพิ่มขึ้น แต่ทางธนาคารก็ยังปล่อยกู้ได้ ทั้งที่เราไม่รู้เรื่อง จึงรู้สึกติดใจการกระทำของธนาคาร เพราะเราไม่รู้เรื่อง อยู่ๆจะปล่อยยอดกู้เพิ่ม แล้วไม่ถามเรา


ด้าน นางประนอม วรรณสุข กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอ ได้ทำเรื่องขอกู้เงินจากธนาคาร จำนวน 1 ล้านนั้น ก่อนเกิดปัญหานั้น สมาชิกถูกบังคับคดี จะยึดที่ยึดบ้าน ตนขอยืนยันว่า มีการส่งเงินทุกเดือน แต่มันมีอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกบังคับคดี ช่วงนั้นเราส่งไม่สะดวก เพราะติดขัดช่วงโควิด ปี 63 ก็เลยมีหนังสือทางศาลมา เราก็เข้าไปไกล่เกลี่ยกับทางธนาคารออมสิน โดยส่วนใหญ่ หนังสือจะแจ้งไปยังสมาชิก แต่ทางสมาชิก กลับบอกว่าไม่รู้เรื่องเอกสาร

คุณอาจสนใจ