เหยื่อ 4 หมื่นคน ถูกดูดเงินจากบัญชี สูญกว่า 10 ล้านบาท จนท.ยันไม่ใช่การแฮกระบบธนาคาร

สังคม

เหยื่อ 4 หมื่นคน ถูกดูดเงินจากบัญชี สูญกว่า 10 ล้านบาท จนท.ยันไม่ใช่การแฮกระบบธนาคาร

โดย pattraporn_a

18 ต.ค. 2564

276 views

ปชช.กว่า 4 หมื่นคน ถูกแฮกข้อมูลบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เสียหายกว่า 10 ล้านบาท จนท.ยันไม่ใช่การแฮกระบบธนาคาร แต่เป็นการใช้ข้อมูลจากบัตรดูดเงินเหยื่อ


จากกรณีผู้เสียหายจำนวนกว่าหมื่นคน ถูกแฮกเงินจากบัตรเดบิตและเครดิต ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าธนาคารไม่ได้ถูกแฮกข้อมูล ขณะที่วันนี้ยังคงพบผู้เสียหายอย่างต่อเนื่องจนมีการรวมกลุ่มกันบนเฟซบุค เพื่อแชร์ข้อมูล โดยแค่คืนเดียวกลุ่มนี้ก็มีคนเข้าร่วมแล้วเกือบ 7 หมื่นคน ซึ่งขณะนี้ตำรวจไซเบอร์ได้เข้าสอบสวนเพื่อติดตามมิจฉาชีพกลุ่มนี้


ผู้เสียหายจำนวนนับไม่ถ้วน ต่างแชร์ข้อมูลความเสียหายจากการทำรายการชำระเงินปริศนาผ่านบัตรเดบิตและเครดิต ลงไปในกลุ่มแชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว ซึ่งภายในเวลาชั่วข้ามคืน มีสมาชิกเข้ามาร่วมแล้วกว่า 62,000 คน


ทีมข่าวได้รวบรวมข้อมูลจากโพสต์ที่เกิดขึ้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นการถูกโอนเงินออกจากบัญชีในจำนวนที่เท่ากัน ทีละหลายครั้งเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งจำนวนกว่า 300 ครั้งขึ้นไป ซึ่งรวมแล้วเป็นมูลค่าตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท


ขณะเดียวกันในส่วนของบัตรเครดิตก็มีการตัดยอดเป็นค่าใช้จ่ายผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยที่เจ้าของบัตรยืนยันไม่เคยซื้อหรือผูกบัตรกับเว็บไซต์เหล่านั้น


กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุ จากการตรวจสอบเบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุหลักเกิดจาก คนร้ายสามารถเข้าถึงข้อมูลบัตรเดบิตและเครดิตของผู้เสียหาย จึงอาจเกิดการขโมยเลขบัตรตามมา ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจมาจากแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ


ขณะที่ยอดใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ผู้เสียหายให้ปากคำว่า ถูกชำระสินค้าเป็นค่าใช้จ่ายในเกมออนไลน์ และการซื้อโฆษณาออนไลน์ ซึ่งการทำธุรกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ ซึ่งตำรวจประสานกับธนาคาร เพื่อตรวจสอบร้านปลายทางที่รับชำระ อยู่ระหว่างการรอข้อมูล และส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศ


อย่างไรก็ตามเป็น ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใช้บัตรเดบิตและเครดิต และไม่ว่าจะเคยผูกบัตรไว้เพื่อทำธุรกรรมบนแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หรือมีโอกาสเป็นผู้เสียหายทั้งสิ้น และส่วนใหญ่มาจากธนาคารเดียวกัน ซึ่งยังเป็นคำถามที่คาใจของผู้เสียหาย ว่าเพราะเหตุใดจึงยังเกิดกรณีนี้ได้


พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุ อาจเกิดได้จาก 3 กรณี คือ กรณีผู้เสียหายผูกข้อมูลบัตรไว้บนช่องทางออนไลน์ต่างๆ , การถูกหลอกให้กรอกข้อมูลโดยไม่รู้ตัว หรือ การฟิชชิง และการไม่ระวังจากการใช้บัตรในชีวิตประจำวัน เช่น การให้บัตรพนักงานไปชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งอาจถูกเก็บข้อมูลเลขหน้าและหลังบัตร เพื่อขายต่อในตลาดมืด



เบื้องต้นมีผู้เสียหายจากกรณีนี้กว่า 4 หมื่นคน มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ยืนยันว่าธนาคารไม่ได้ถูกแฮกข้อมูล ซึ่งขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า


รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติ ยืนยันผู้เสียหายไม่ต้องรับผิดชอบค่าบริการที่เกิดขึ้น โดยสาม ารถติดต่อธนาคารและแจ้งข้อมูลกับตำรวจไซเบอร์ได้ทันทีผ่านคิวร์อาร์โค้ดที่ปรากฎนี้




ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์ แนะนำให้ผู้ที่ใช้บัตรเดบิต และบัตรเครดิต รักษาข้อมูลส่วนตัว โดยนำสติกเกอร์ทึบแสงมาปิดเลขสามตัวบริเวณหลังบัตรเพื่อป้องกันบุคคลอื่นเห็นขณะนำบัตรไปใช้รูดซื้อสินค้าและบริการ แต่ในประเด็นนี้ ก็มีข้อเสนอจากลูกค้าธนาคารบางส่วนว่า ธนาคาร ควรยกเลิกการใส่เลขสามตัวไว้ที่บัตร แต่ควรเปลี่ยนไปให้ผู้ถือบัตรจำในลักษณะของพาสเวิร์ด น่าจะปลอดภัยกว่า

คุณอาจสนใจ

Related News