คุณต้องการล้างการแจ้งเตือนทั้งหมด?
|
พิษณุโลก
พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีภูมิประเทศตอนบนเป็นเทือกเขา ส่วนพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านอย่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน รวมทั้งแม่น้ำสาขา ได้แก่แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำวังทอง จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่ก่อนการเกิดรัฐสุโขทัย โดยพบโบราณสถานที่วัดจุฬามณีสร้างด้วยศิลาแลงศิลปะร่วมสมัยลพบุรีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อมาเมื่อรัฐสุโขทัยเรืองอำนาจ ราวพุทธศตวรรษที่ 19 สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงใช้พื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านสร้างเมืองปรากฏตามจารึกและเอกสารสำคัญหลายฉบับว่า “เมืองสองแคว” เพื่อควบคุมหัวเมืองบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีแหล่งทรัพยากรสำคัญคือ “เกลือสินเธาว์” รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันการรุกรานจากกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา มีการเรียกชื่อเมืองสองแควนี้ว่า “เมืองชัยนาท” ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าสามพระยาในฐานะเมืองลูกหลวง จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเป็นผู้มีเชื้อสายข้างพระราชมารดาจากราชวงศ์พระร่วง เกิดเหตุการณ์เมื่อทัพหลวงเมืองเชียงใหม่นำโดยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย เข้ารุกรานหัวเมืองเหนือได้หลายเมืองและมุ่งหน้ามายังเมืองสองแคว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงต้องเสด็จจากอยุธยามาประทับที่เมืองสองแควเพื่อบัญชาการศึกเป็นเวลายาวนานถึง 18 ปี จึงสามารถยึดหัวเมืองเหนือกลับคืนได้ทั้งหมด จากนั้นประทับที่เมืองสองแควจนสิ้นรัชกาล สันนิษฐานว่าช่วงเวลานี้เองที่เมืองสองแควน่าจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “พิษณุโลก” อันหมายถึงเมืองของพระนารายณ์ โดยนับตั้งแต่คราวที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาประทับ ถือเป็นการย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองพิษณุโลกยาวนานถึง 25 ปี และเมืองพิษณุโลกก็ยังคงมีบทบาทในฐานะเมืองลูกหลวงต่อมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
อ้างอิง
1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
2) สุขสวัสดิ์ ลิ้มรุ่งเรือง (2549). นายรอบรู้ นักเดินทาง : พิษณุโลก. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ด่านสุทธาการพิมพ์.
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)
เป็นพระอารามสำคัญขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน สร้างขึ้นในบริเวณเมืองสองแควตั้งแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระมหาธาตุทรงดอกบัวตูม วิหาร พระอุโบสถ เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธปฏิมากรสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จจากอยุธยามาประทับที่เมืองพิษณุโลก (เมืองสองแควเก่า) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงสร้างซุ้มเรือนแก้วถวายพระพุทธชินราช และสันนิษฐานว่าในคราวเดียวกันนี้น่าจะโปรดเกล้าฯ ให้แปลงพระมหาธาตุทรงดอกบัวตูมตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระยาลิไท ให้เป็นพระมหาธาตุทรงปรางค์ตามแบบพระราชนิยมในอยุธยา ต่อมาในสมัยธนบุรีกองทัพพม่านำโดยแม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ได้ยกทัพมาถึงพิษณุโลกและเผาเมืองจนได้รับความเสียหายเป็นอันมาก ยกเว้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งนี้เพียงวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลาย ภายในวัดจึงหลงเหลือโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังคงสภาพสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครได้ดังนี้
• วิหารพระพุทธชินราช: สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสุโขทัยและล้านนา คือมีลักษณะชายคาปีกนกที่ซ้อนชั้นลาดต่ำลงมาเพื่อควบคุมแสงและป้องกันอากาศหนาวเย็น มีระเบียงคดเชื่อมต่อวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์และวิหารพระศรีศาสดา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชซึ่งเป็นพระประธานของวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่หล่อด้วยสำริด (ดีบุกผสมทองแดง) ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ สูง 7 ศอก พระวรกายล้อมรอบด้วยซุ้มเรือนแก้วซึ่งทำจากไม้แกะสลักฝีมือช่างหลวงในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบทำให้พระพุทธชินราชงดงามอย่างยิ่งจนศิลปินบางท่านถึงกับกล่าวว่าพระพุทธชินราชนั้นงามเข้าขั้นเนรมิต
• พระอัฏฐารส: ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งด้านหลังพระปรางค์มหาธาตุ เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารเก้าห้อง ต่อมาเกิดชำรุดทรุดโทรมและพังทลาย ปัจจุบันจึงเหลือเพียงเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ พระประธานมีพุทธลักษณะเป็นปางห้ามญาติ สูงถึง 18 ศอก (9 เมตร) อันเป็นที่มาของชื่อ “อัฏฐารส” โดยการสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่เช่นนี้เป็นที่นิยมมากในสุโขทัย สันนิษฐานว่าพระอัฏฐารสน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับวิหารในคราวเดียวกันกับการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุโดยพระยาลิไท
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 06.30-16.30 น.
ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทยเข้าชมฟรี ชาวต่างชาติ 50 บาท
พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/XeYiDgsUcmJuarKv9
อ้างอิง
1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
2) สุขสวัสดิ์ ลิ้มรุ่งเรือง (2549). นายรอบรู้ นักเดินทาง : พิษณุโลก. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ด่านสุทธาการพิมพ์.