เทคโนโลยี

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ สายชาร์จแบตดูดข้อมูลมีจริง แต่ไม่ได้ดูดเงิน ย้ำอย่าระวังโหลดแอปฯ-กดลิงก์

โดย panwilai_c

19 ม.ค. 2566

80 views

จากข่าวเหยื่อใช้สายชาร์จแบตแล้วโดนดูดเงินออกจากแอปธนาคาร กระทั่งมีคำยืนยันตำรวจไซเบอร์ว่า เป็นผลมาจากการกดลิงก์ ดาวน์โหลดแอปหาคู่ ไม่เกี่ยวกับสายชาร์จ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยืนยันสายชาร์จแบตดูดข้อมูลมีจริง แต่ไม่ได้ดูดเงิน มีขายในต่างประเทศ



อาจารย์นรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือที่รู้จักกันว่า อ.ฝน ไซเบอร์ได้นำสายชาร์จแบตที่ดูดข้อมูล (ซึ่งอาจารย์ซื้อมาจากต่างประเทศ ) มาสาธิตให้ทีมข่าวดูว่า ถ้าสายชาร์จดูดข้อมูล จะจ่ายไฟระดับ 0.4 โวลต์ เพราะมีชิปประมวลผลอยู่ในหัวชาร์จ และจะมีความร้อนตรงหัวชาร์จมากกว่าสายปกติ



พร้อมอธิบายว่า สายชาร์จจะทำหน้าที่เหมือนคีย์บอร์ด เมื่อเสียบโทรศัพท์ โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ ทำให้แฮคเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบใดป้องกันช่องโหว่ส่วนนี้ จึงยืนยันได้ว่า สายชาร์จดูดข้อมูลนั้นมีจริง แต่เสียบสายชาร์จแล้วเงินหายเลยคงไม่ใช่



สำหรับสายชาร์จดูดข้อมูลนี้ มีขายในต่างประเทศนานมาแล้ว 2 ปี ราคาเส้นละ 100 กว่าดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยขณะนี้ 4,000-5,000 บาท ) ซึ่งในประเทศไทยยังไม่สามารถสั่งซื้อได้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะซื้อนำเข้ามา ในกลุ่มอาชีพตรวจระบบความปลอดภัย หรือ Pentester เพื่อเช็กว่า การตั้งค่าความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันมิจฉาชีพก็จะนำสายชาร์จนี้ไปใช้แฮกข้อมูลจากองค์กรหรือผู้บริหาร



สำหรับแนวทางป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกทางไซเบอร์ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อ.นรินทร์ฤทธิ์ กล่าวว่า มิจฉาชีพพยายามหาช่องโหว่ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไลน์ หรือ การแชทให้ตกหลุมรักและชวนให้โหลดแอปลงทุน ซึ่งอาจจะแอบแฝงมัลแวร์ เพื่อเข้าถึงข้อมูลเราได้ อาศัยจังหวะประชาชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจ



ดังนั้นต้องย้ำเตือนตนเอง อย่าเชื่อลิงก์หรือข้อความที่ส่งให้เรา และกดเข้าไปเด็ดขาด เพราะระบบไซเบอร์เซอร์เคียวริตีในไทยปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ อีกทั้งไทยยังไม่มีหลักสูตรเปิดสอนในระบบป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/P9T8JrXCiKA

คุณอาจสนใจ