กีฬา

ส.ทีวีดิจิทัล ยื่น กสทช. ขอถ่ายสดบอลโลกคู่ขนานกับทรู ยึดหลัก 'ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ'

โดย thichaphat_d

22 พ.ย. 2565

34 views

กรณี สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) นำโดย นายเดียว วรตั้งตระกูล ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 ในฐานะเลขาธิการสมาคม นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษา บริษัท เนชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการสมาคม เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้วินิจฉัยกรณีมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เท่าเทียมหรือไม่


โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการ ประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้แทน ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) รับหนังสือ


โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. โดยกองทุน กทปส. ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาท แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลง ที่ได้ระบุไว้ว่า ให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ตลอดการแข่งขัน


เนื่องด้วยการดำเนินการของ กกท.เกี่ยวกับการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีข้อพึงสังเกตถึงความไม่ถูกต้องในการจัดสรรการถ่ายทอด ในการนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบ และวินิจฉัยว่าการจัดสรรในครังนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียดดังนี้


1.การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน


การจัดสรรแมตช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่างๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมตช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุน คือคิดเป็น 40% ของงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท) ไม่ใช่เพียง 32 แมตช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก (กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิทัลด้วย) ได้เลือกแมตช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียมอย่างมาก


2.กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุนจำนวน 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมสิทธิการถ่ายทอด ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ได้สิทธิในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมตช์ และได้นาทีโฆษณา จากช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท. 


ส่วน กสทช.สนับสนุนเงินผ่านกองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดให้แก่ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้ง 64 แมตช์ กลับได้รับการจัดสรรสิทธิเพียง 32 แมตช์ และเป็นแมตช์ที่เหลือจากที่กลุ่มทรูได้เลือกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจนหรือไม่


3.ทาง กกท.ได้มีการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. โดยให้สิทธิแก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลักได้เลือกแมตช์ต่างๆ ก่อนตามภาพประกอบ โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมตช์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด


โดยทั้งนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาชิกช่องสถานี ได้ทักท้วงหลายครั้งต่อ กกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช. แต่ทาง กกท.ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป


ในการนี้ทางสมาคมจึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อยืนยันว่า การที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา 23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน


และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว การจับฉลากครั้งนี้ สมาคมไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท. ขอสงวนสิทธิในการทักท้วงไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท. โดยเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของ กกท. เป็นไปโดยชอบ และขัดกับหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช.หรือไม่อย่างไร

----------------

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตทีวี (ไอพีทีวี) ว่าสามารถได้ทำได้หรือไม่ พ.ต.อ.ประเวศน์ตอบชัดเจนว่า “ปกติก็ต้องดูได้หมด ตามเจตนาที่ กสทช.ให้งบไป ก็เพื่อให้ได้ชมทุกช่องทาง”
----------------

วานนี้ (21 พ.ย. 65) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของกระบวนการเจรจากับกลุ่มทุนเพื่อมอบสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก จากกรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้สิทธิ์กลุ่มทรู ในการเลือกแมทช์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกก่อน จากนั้นแมทช์ที่เหลือ 32 นัด จึงค่อยกระจายไปช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ จับสลากกัน


และยังมีเงื่อนไขในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่ติดตามชมในระบบ IPTV, ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่, และระบบ OTT ซึ่งทำให้ประชาชนที่ติดตามผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือไม่สามารถติดตามฟุตบอลโลกได้ ซึ่งผิดกฎระเบียบของ กสทช.ในเรื่อง must carry ที่จะต้องเผยแพร่ให้ได้รับชมในทุกช่องทางอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม


โดยนางสาวศิริกัญญา ตั้งคำถามถึงกระบวนการเจรจาและการทำข้อตกลงระหว่าง กกท. และกลุ่มทุนบริษัทต่างๆ ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ เงื่อนไขที่กลุ่มทรูได้รับมีการประเมินมูลค่าอย่างไร ได้นำเงื่อนไขเดียวกันนี้ไปเสนอกับผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล หรือ IPTV เจ้าอื่นๆ อย่าง 3BB TV AIS Play Box ด้วยหรือไม่ เพราะอาจมีเอกชนรายอื่นให้ข้อเสนอที่ดีกว่า กลายเป็นกลุ่มทรูเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตกระจายเสียงเพียงรายเดียวที่จ่ายเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์


นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ความวุ่นวายของการถ่ายทอดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ องค์กรที่ควรต้องออกมาพูดอะไรมากที่สุดคือ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่ใช้เงินของรัฐจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมากที่สุด และเงินที่นำมาอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินที่เบียดบังมาจากงบประมาณที่จัดไว้สำหรับการเข้าถึงระบบโทรคมนาคมของกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่เงื่อนไขการถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่เอกชนอ้างกลับเป็นการกึ่งบังคับให้คนที่ต้องการติดตามบอลโลกต้องเป็นลูกค้าทรู


“เงื่อนไขที่กลุ่มทรูได้ คือร่วมจ่าย 300 ล้านบาท ได้ถ่าย 32 คู่รวมคู่เปิด-ปิด แถม Exclusive deal ต้องเป็นลูกค้าทรูถึงจะดูผ่าน กล่อง หรือแอพทรูไอดีได้ กสทช.ในฐานะเจ้าของเงินลิขสิทธิ์ครึ่งนึงจะไม่พูดอะไรเลยหรอคะ ในวันที่กฎระเบียบมีปัญหาจนไม่มีเอกชนมาประมูลแล้วต้องควักเงินจ่าย 600 ล้านบาท นั้น กสทช. กลับไม่แก้กฎ


ดังนั้นในวันนี้ อย่างน้อยที่สุด กสทช. ต้องกำกับดูแล อย่าปล่อยให้เอกชนเล่นตุกติก เจรจาลับกับ กกท. แล้วได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นกฎ Must Carry ทำให้ลูกค้าทรูเท่านั้นที่จะได้ดูฟุตบอลครบทุกแมทช์แบบคมชัด แต่ประชาชนที่ไม่จ่ายต้องไปดิ้นรนหาช่องทางติดตามฟุตบอลโลกกันเอาเอง”
--------------



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/PAG4X2wFLF8

คุณอาจสนใจ

Related News