กีฬา

'ดร.ก้องศักด' แจงปม 'ถ่ายสดบอลโลก' สปอนเซอร์ได้มากกว่าเป็นเรื่องปกติ - 'สุภาพ' เตรียมยื่นหนังสือถึง กสทช.

โดย thichaphat_d

21 พ.ย. 2565

450 views

วานนี้ (20 พ.ย. 65) มีการแถลงขอบคุณผู้สนับสนุน ที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ในประเทศไทยได้สำเร็จ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายที่กาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. - 18 ธ.ค. นั้น มีค่าใช้จ่ายรวมภาษีกว่า 1.4 พันล้านบาท


โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 600 ล้านบาท


ทั้งนี้ มีภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ รวมเป็นเงิน 700 ล้านบาท แยกเป็น...


1. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 300 ล้านบาท

2. น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง 100 ล้านบาท

3. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท

4. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท /

5. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท

6. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท

7. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท

8. ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท

9. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท


ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก กาตาร์ 2020 ทั้งในส่วนภาครัฐ โดย กสทช. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ดกองทุนฯ และประธานบอร์ด กกท. ร่วมด้วยภาคเอกชน 


ต้องขอขอบคุณหลายฝ่าย ที่พยายามทุ่มเททำงานกันอย่างหนักตลอด 3-4 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ก่อนสามารถเจรจากับทางตัวแทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จนได้ราคาลิขสิทธิ์ที่ลงตัว 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,200 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าภาษีและการดำเนินการต่างๆ ด้วย ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท


สำหรับการชำระค่าลิขสิทธิ์ ทางฟีฟ่าให้ประเทศไทยแบ่งชำระ 2 งวด คือ งวดแรกก่อนเกมนัดเปิดสนาม ซึ่งก็ใช้งบประมาณที่ได้รับมาจากกสทช.ชำระไปแล้ว จำนวน 600 ล้านบาท และอีกงวด 600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่จะชำระภายในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้

---------------

จากกรณี ช่องทีวีดิจิทัล (ยกเว้นช่องทรู) เห็นตรงกันว่า เราไม่ได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียม จากกฎเกณฑ์ กติกา ของการกีฬา (กกท.) ช่องทรูได้รับสิทธิ์ถ่ายทอด 32 คู่ (จาก 64 คู่) แล้วอีก 32 คู่ ให้ช่องที่เหลือ 17 ช่อง จับฉลากกัน และเปิดโอกาสให้ช่องทรู ได้เลือกก่อนว่า จะถ่ายทอดคู่ไหน ในจำนวน 32 คู่ที่ได้รับสิทธิ์ แล้วยังได้สิทธิ์ถ่ายทอดออกอากาศ ได้ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม


ดร.ก้องศักด ยอดมณี ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า เรื่องการจัดสรรถ่ายทอดสดว่าเป็นธรรมแล้ว สปอนเซอร์ได้รับสิทธิ์มากกว่าก็เป็นเรื่องปกติ ทุกขั้นตอนได้มีการพูดคุยกันก่อนกับทาง กสทช.แล้ว แต่จะได้มากกว่าในระดับไหน ก็เป็นสิ่งเราได้หารือกันแล้ว


ในที่สุดแล้วเมื่อวานนี้เราก็ต้องตัดสินใจ เพราะว่าไม่มีเวลาแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้ดีที่สุด ณ เวลาเมื่อวานนี้ เราไม่ได้เพิ่งมาหารือ แต่คุยกันมาก่อนหน้านี้ 2-3 วันแล้ว เราได้ให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้กับทีวีทุกช่องในการเสนอว่า จะให้สิทธิ์ช่องที่เป็นสปอนเซอร์เหนือกว่าช่องที่ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์จำนวนมากน้อยอย่างไร


และเนื่องจาก ทรูเป็นผู้สนับสนุนหลักในครั้งนี้ จึงได้ถ่ายทอดสดทั้งหมด 32 จาก 64 แมตช์ หากมีช่องทีวีดิจิทัล ไปร้องเรียน กสทช. ทาง กกท. ก็พร้อมที่จะชี้แจงเหตุผลทุกข้อให้ กสทช. ได้ทราบ


ขอเรียนว่าเราพยายามทำให้มีความเสมอภาคที่สุดแล้ว มีการปรึกษากับทาง กสทช. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกอย่างมีความเป็นธรรมและโปร่งใส ขอน้อมรับความเห็นของทุกฝ่าย และเราก็ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ของทุกฝ่าย


แต่ถ้าจะมีการยื่นเรื่องไปที่ กสทช. จริงๆ เราจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยคำตัดสินของ กสทช. อย่างเคร่งครัด และก็คงต้องหารือกันต่อไป เรามาถึงจุดนี้แล้ว ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสียสละคนละนิดคนละหน่อย เพื่อที่จะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน คิดว่าจะร่วมกันหาทางออกได้
---------------

เช้าวันนี้ (21 พ.ย.) ประมาณ 10.00 น. นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ที่เตรียมยื่นหนังสือถึง กสทช.


โดยให้เหตุผลว่า ช่องทีวีดิจิทัล (ยกเว้นช่องทรู) เห็นตรงกันว่า เราไม่ได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียม จากกฎเกณฑ์ กติกา ของการกีฬา (กกท.)ช่องทรูได้รับสิทธิ์ถ่ายทอด 32 คู่ (จาก 64 คู่)


แล้วอีก 32 คู่ ให้ช่องที่เหลือ 17 ช่อง จับฉลากกัน และเปิดโอกาสให้ช่องทรู ได้เลือกก่อนว่า จะถ่ายทอดคู่ไหน ในจำนวน 32 คู่ที่ได้รับสิทธิ์ แล้วยังได้สิทธิ์ถ่ายทอดออกอากาศ ได้ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม


ผู้ประกอบการที่เหลือทุกช่อง พยายามจะเข้าใจในเหตุผลที่ว่า ทรูเป็นสปอนเซอร์ 300 ล้าน ก็ย่อมมีสิทธิ์ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ว่านั้น แต่ถ้าคิดในตรรกะของแหล่งเงินที่ได้มา เราก็มีสิทธิ์จะคิดว่า เงิน 600 ล้าน จากกองทุน กปทส.ที่ กสทช.อนุมัติให้ไป เป็นเงินที่เกี่ยวข้อง และมีแหล่งที่มาจากพวกเราที่ร่วมประมูล


เราจึงมีสิทธิ์ที่จะบอกว่า เงิน 600 ล้าน คือจำนวน 40% ของวงเงินค่าลิขสิทธิ์ ทรูลงขัน 300 ล้าน คือ 20% ของวงเงินค่าลิขสิทธิ์ แล้วทำไม เงิน 20% ถึงได้สิทธิ์ทั้งปวง เหนือกว่าเงิน 40%


นี่คือตรรกะและหลักคิดที่พวกเราคิดว่า เราพึงมีที่จะยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม จากองค์กรที่ยึดโยงอยู่กับเรา

---------------

วานนี้ (20 พ.ย. 65) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า


เราสนับสนุนเงิน 600 ล้านบาทตามมติของคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ส่วนเรื่องของการ ถ่ายสดบอลโลก 2020 ให้เป็นหน้าที่ของเอกชนที่ลงขันเพิ่มแล้ว และอยู่ที่การตกลงกันของ กกท.กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล


วันนี้ (21 พ.ย.) ที่จะมีการยื่นหนังสือต่อสำนักงาน กสทช. ว่า การถ่ายทอดไม่เป็นธรรม มีเอกชนบางรายได้เลือกช่องก่อน และไม่เข้าข่ายเรื่องความเป็นเท่าเทียมและทั่วถึง สำนักงาน กสทช.จะรับไปพิจารณา ว่าจะนำเอาหารือในบอร์ดกสทช.วันที่ 23 พ.ย.นี้ หรือไม่

---------------

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือ เรื่อง การแจ้งสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยระบุว่า


ตามที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบ สุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2555 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดย กกท. ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)


ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวที่ได้รับจาก กสทช. ไม่ เพียงพอต่อค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันดังกล่าว กกท. จึงได้เข้าทำสัญญากับบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (รวมเรียกว่า กลุ่มทรู) เพื่อเป็น ผู้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม


โดย กกท. ได้ตกลงมอบสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ให้แก่กลุ่มทรู ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ผ่านระบบต่างๆ...

  • ระบบเคเบิ้ล (Cable Transmission)
  • ระบบดาวเทียม (Satellite Transmission)
  • ระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission)
  • ระบบอินเตอร์เน็ต (Internet Transmission)
  • ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission)
  • ระบบ OTT
  • ยังให้สิทธิแบบไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียวผ่านช่องทางโทรทัศน์ ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission) นั้น


กลุ่มทรู จึงขอเรียนแจ้งให้ท่านทราบถึงสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ของกลุ่มทรู และขอให้ดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยไม่ละเมิดสิทธิของกลุ่มทรู เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission)


จะมีการนำไปเผยแพร่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ได้เฉพาะบนระบบดาวเทียม (Satellite Transmission) และระบบเคเบิ้ล (Cable Transmission) เท่านั้น


ไม่รวมถึงบนระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission ) ระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Transmission) ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และระบบ OTT

---------------

ทั้งนี้ แหล่งข่าววงการข่าวโทรทัศน์ กล่าวว่า เมื่อปัจจุบันยกเลิกทีวีระบบอนาล็อกไปแล้ว คนไทยรับชมผ่านทีวีอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ริดรอนสิทธิ์ และส่งกระทบต่อประชาชนหลักล้านคน


เนื่องจากลูกค้าที่ใช้กล่องทีวีอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่น 3BB TV, NT, TOT, IPTV, กล่องเอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ รวมถึงกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z, PSI, MVTV, DTV เป็นต้น ไม่สามารถรับชมได้


หากต้องการรับชมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม อาทิ ซื้อกล่องทรู หรือเสาหนวดกุ้งเพิ่มเติม ซึ่งลักษณะนี้ไม่เรียกว่า คนไทยดูฟรี ทั้งที่ การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก กสทช. ซึ่งมาจากภาษีคนไทยทั้งประเทศ

---------------

Must Have คือ หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี (คือต้องดูฟรี จะถ่ายเฉพาะทางเคเบิลทีวี ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อดูไม่ได้)

โดยมี 7 มหกรรมกีฬา ที่สามารถออกอากาศได้ ดังนี้

1. ซีเกมส์

2. อาเซียนพาราเกมส์

3. เอเชียนเกมส์

4. เอเชียนพาราเกมส์

5. โอลิมปิก

6. พาราลิมปิก

7. ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย


Must Carry คือ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป

เป็นประกาศที่ออกมาเพื่อป้องกันจอดำ โดยกำหนดให้รายการใน 'ฟรีทีวี' ต้องสามารถดูได้ผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นดินหรือระบบผ่านดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี ไม่ว่าจะมีค่าสมาชิกหรือไม่ก็ตาม


เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน สามารถรับชมการเผยแพร่กีฬาที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

---------------



คุณอาจสนใจ

Related News