สังคม

'กรุงเทพกลางแปลง' คึกคัก ฝนตกแต่คนยังสู้ รอดูจนจบ - โต้ดรามาใช้งบมหาศาล

โดย passamon_a

9 ก.ค. 2565

21 views

"กรุงเทพกลางแปลง" วันที่ 2 ยังคึกคัก ประชาชนเข้าจับจองพื้นที่ลานคนเมือง รอชมหนังกลางแปลงเรื่องเวลาในขวดแก้ว แม้ฝนตกแต่คนยังสู้ ยุติการฉายชั่วคราวเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนฉายหนังต่อ คนกางร่ม ใส่เสื้อกันฝนนั่งดูจนจบ


ส่วนดราม่าค่าฉายหลังกลางแปลง ลือหนักจอละ 8 ล้าน ผกก.โต้ อย่าสร้างความเข้าใจผิด กทม.แค่ประสาน สมาคมหนังกลางแปลงคิดแค่ค่าแรง ฉาย 25 ครั้ง 150,000 บาท



เมื่อวันที่ 8 ก.ค.65 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เป็นวันที่ 2 ของการจัดเทศกาล กรุงเทพกลางแปลง ฉายเรื่องเวลาในขวดแก้ว (2534) นำแสดงโดย นฤเบศน์ จินปิ่นเพชร, ปวีณา ชารีฟสกุล และ วาสนาพูนผล กำกับโดย ประยูร วงษ์ชื่น เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายสะท้อนสังคม บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาของตัวเอง


เวลา 16.00 น. เริ่มเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปนั่งในลานคนเมือง มีการเปิดเพลงงานวัด บรรยากาศยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้คนเข้ามาในงานจับจองที่นั่งหน้าจอ โดยมีจุดบริการให้ยืมแผ่นไวนิลป้ายของคุณชัชชาติ ที่เก็บหลังเสร็จสิ้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ บางส่วนเตรียมเสื่อมาจากบ้าน หาซื้อของกินไปนั่งดูหนัง


นอกจากนี้มีร้านค้ามาจำหน่ายของกิน อาทิ อ้อยควั่น ขนมเบื้อง ข้าวเกรียบว่าว ปลาหมึกย่าง ข้าวโพดคั่วใส่ถุงเดินขาย ของเล่นโบราณ บ๊ะจ่าง ลูกชิ้นปิ้ง  ป๊อปคอร์น รวมถึงโอเลี้ยง กาแฟ ชาเย็น น้ำสีต่าง ๆ ใส่ถุงมัดด้วยหนังยางแขวนกับไม้เดินขายตามงาน บรรยากาศในงานราวกับงานวัด รวมถึงมีบริการนวดตอกเส้นการกุศลซึ่งสามารถลองใช้บริการฟรี


ซึ่งวันนี้ร้านมีเยอะกว่าวันแรก ผู้ค้าต่างพากันมาจับจองพื้นที่ตั้งรถเข็นขายของรอบลานคนเมือง ส่วนใหญ่เป็นอาหารน้ำดื่มที่มีขายทั่วไป โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยจัดระเบียบ ผู้ค้าหลายคนบอกว่าวันแรกขายดีมาก วันนี้จึงเพิ่มปริมาณของที่นำมาขายเป็นเท่าตัว มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ด้านข้างของลานคนเมือง มีบูธแจกจ่ายอาหาร


ทีมข่าวได้ไปคุยกับ สงกรานต์ แสนสุข อายุ 51 ปี เผยว่า พาลูกชายวัย 13 ปี มาดูหนังกลางแปลงกัน 2 คน อีกทั้งลูกชายชื่นชอบอาจารย์ชัชชาติ และไม่เคยดูหนังกลางแปลง ตนจึงพามาจากบ้านย่านพระราม 3 พอมาถึงก็จับจองที่นั่งหาซื้ออาหาร ข้าวเกรียบ อ้อยควั่น มานั่งกินรอดูหนัง


ลูกชายอยากมาตั้งแต่วันแรกแล้วแต่ตนไม่ว่าง ตนนึกถึงบรรยากาศตอนเป็นเด็ก ๆ ที่อยู่บ้านต่างจังหวัดไปนอนดูหนังกลางแปลง บรรยากาศยุคนั้นก็ขายอ้อยควั่นแต่จะเป็นพวงไม่มีไม้เสียบ ดีมากที่จัดงานนี้ขึ้นมา ตั้งใจจะดูหนังให้จบเพราะมาไกล อยากให้จัดงานแบบนี้เรื่อย ๆ


ด้าน จุฑามาศ ชูสูงทรง อายุ 36 ปี  เผยว่า บรรยากาศทำให้ตนรู้สึกย้อนกลับไปวัยเด็ก แต่ก่อนจะมีหนังสือพิมพ์เป็นม้วน ๆ น้ำเป็นสี ๆ ถั่วต้ม ข้าวโพดคั้วเดินขายด้วย สมัยก่อนก่อนไม่มีทีวีถ้าอยากดูหนังใหม่ต้องมาดูหนังกลางแปลงเท่านั้น ครั้งนี้แฟนตั้งใจพาตนมาดูหนังกลางแปลง เพราะหาดูยากแล้ว


เวลา 18.00 น. เป็นการแสดงดนตรีสด ร้องเพลง ของน้อง ๆ เยาวชน วง The White Hair Cut ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งก็มีเยาวชนบางส่วนแต่งชุดนักเรียนมานั่งฟังดนตรีด้วยอย่างสนุกสนาน


ระหว่างนั้นได้มีชาวต่างชาติคนหนึ่ง นำเงินไปเหมาลูกชิ้น ฝักบัว และเครื่องดื่ม ประมาณ 4 ร้าน ให้คนที่มาดูหนังกลางแปลง ทำให้มีชาวบ้านวิ่งกรูเข้ามาต่อแถวยาวมากจนเบียดเสียดกันแน่น


โดยชาวต่างชาติคนดังกล่าว บอกว่า ตนเป็นชาวฮอลแลนด์ อาศัยอยู่ประเทศไทยมา 1 ปีกว่าแล้ว รักประเทศไทยมากและเคารพในพระพุทธศาสนา พร้อมกับโชว์สายสิญจน์ระบุว่า ไปมาแล้วกว่า 1,000 วัดในประเทศ ซึ่งการที่ตนเหมาอาหารให้คนกินนั้น ไม่ได้เป็นคนร่ำรวย ตนก็มีเงินไม่มาก แต่ตนรักคนไทย


ขณะที่แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้ง ที่โดนเหมาอาหาร ระบุว่า ดีใจมากที่ชาวต่างชาติมาเหมาลูกชิ้น ตอนแรกให้มาแค่ 200 แต่ปรากฏว่าชาวบ้านเข้ามารับเยอะมาก ทำให้เหมาไปอีกเรื่อย ๆ ตนดีใจมาก ปลื้มใจที่ชาวต่างชาติคนดังกล่าวมาช่วย ยอมรับว่ายังไม่ทันพูดคุยด้วยมากนัก


เมื่อถามว่ามองโครงการกรุงเทพฯกลางแปลงอย่างไร แม่ค้าคนดังกล่าวตอบว่าก็ดีเพราะได้ช่วยเหลือแม่ค้าชาวบ้านจริง ๆ ซึ่งปกติ เธอขายลูกชิ้นปิ้งแถวเสาชิงช้าอยู่แล้ว ยอมรับว่า กรุงเทพฯกลางแปลง ทำให้เธอมีรายได้เพิ่มต่อวันเกือบ 2 เท่า จากที่ขายได้วันละ 6,000 บาท ตอนนี้ขายได้วันละ 10,000 บาท อยากฝากถึงผู้ว่าฯชัชชาติ ว่าขอบคุณท่านและขอเป็นกำลังใจในการทำงานให้ดี


จากนั้นเวลา 18.30 น. คุณประยูร วงษ์ชื่น ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องเวลาในขวดแก้ว มาร่วมสนทนาก่อนฉายภาพยนตร์ นายประยูร กล่าวว่า พยายามหาบทประพันธ์ที่มีสาระและมีความสนุก ก็พยายามหาบทประพันธ์ที่หลากหลาย มีนักประพันธ์ใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง แต่ตนเป็นผู้กำกับเล็ก ๆ จะไปนำบทประพันธ์ใหญ่ ๆ มาก็กลัวว่าจะเสียชื่อผู้เขียน


พร้อมเล่าว่าวันหนึ่งได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าพาต้า เจอหนังสือ เวลาในขวดแก้ว ที่ร้านหนังสือดอกหญ้า หลังเดินหากว่า 2 ชั่วโมงกว่าจะเจอหนังสือที่จะนำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องของตัวละครซึ่งต้องตีโจทย์ให้แตก เพราะถ้าตีโจทย์ไม่แตกภาพยนตร์เรื่องนี้ทำยาก โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2563


ต่อมาเวลา 19.00 น. บรรยากาศการจัดเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ที่ลานคนเมือง ทางผู้จัดงา มีการนำภาพเก่าในเหตุการณ์การโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมสำคัญของ กทม. โดยภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้เมื่อปี พ.ศ.2472 ซึ่งผู้ถ่ายคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หรือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาให้ชม


เวลา 19.15 น. ระหว่างที่กำลังฉายตัวอย่างภาพยนตร์ จู่ ๆ ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ประชาชนพากันแตกตื่น วิ่งเข้าไปหลบฝนในเต็นท์ที่จัดเตรียมรองรับไว้อย่างรวดเร็ว ยืนเบียดกันในเต็นท์ บางส่วนนำพลาสติกรองนั่ง และป้ายไวนิลของคุณชัชชาติ ที่เก็บหลังเสร็จสิ้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาคลุมตัวกันฝน เหตุการณ์นี้ถือว่าเกิดขึ้นกะทันหัน ไม่มีการตั้งรับมาก่อน ขณะที่หนังไตเติ้ลก่อนเริ่มเรื่องยังคงฉายต่อเนื่อง


ผ่านไปสักพัก พอฝนหยุดตกทุกคนพากันออกมานั่งบริเวณลานคนเมือง เพื่อรับชมหนังต่อ แม้ว่าพื้นจะแฉะและเปียกก็ตาม บางคนนำร่มมากาง นำพลาสติกที่ใช้ปูรองนั่งมาคุมตัวไว้เพราะฝนยังตกปรอยๆ บ้างก็หาซื้อเสื้อกันฝนมาใส่ ผืนละ 20 บาท แต่มีคนฉวยโอกาสขายผืนละ 40 บาท บางคนจำเป็นต้องซื้อ เพื่อต้องการจะดูภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวให้จบ โดยเสื้อกันฝนขายดีอย่างมาก


ทั้งนี้ เวลา 19.15 น. หนังกลางแปลงหยุดการฉายชั่วคราว หลังฝนถล่มลงมาอย่างหนักอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ประกาศขอเปลี่ยนระบบการฉายจากแผ่นฟิล์มเป็น DVD ปรากฏว่าแรงลมแรงมากขึ้น จึงต้องนำจอลง ประชาชนพากันเข้าไปหลบมาในเต็นท์เช่นเดิม ฝนสาดเข้าไปในเต็นท์เปียกกันถ้วนหน้า ทางทีมงานนำป้ายไวนิล ของคุณชัชชาติ มาขึงกับเชือกผูกติดกับเต็นท์ เพื่อไม่ให้ฝนสาดเข้าไปภายในเต็นท์


กระทั่งเวลา 20.00 น. ฝนตกเบาลง ทางผู้จัดงานได้ดำเนินการฉายภาพยนตร์เรื่องเวลาในขวดแก้ว ต่อทันที เพื่อให้ประชาชนได้รับชม เพราะทุกคนตั้งใจมาดูหนังกลางแปลง แม้ว่าฝนยังตกลงมาปรอย ๆ ก็ตาม บางส่วนใส่เสื้อกันฝน และและยืนกางร่ม และนำพลาสติกไปนั่งรับชมหนังอยู่บริเวณหน้าจอ


ทีมข่าวได้คุยกับ พลสกล หงษ์ศิริชัย อายุ 45 ปี เดินทางมาดูหนังกลางแปลงพร้อมกับภรรยาและลูกอีก 3 คน หลังฝนหยุดตกครอบครัวนี้ได้นำพลาสติกมาปูพื้น และนั่งกางร่มดูหนังร่วมกัน เผยว่า เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร ตั้งใจพาลูกมาดูบรรยากาศ และมาหาอะไรกินเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ


ฝนตกแค่นี้ไม่ทำให้ตนท้อ เดี๋ยวมันก็หยุด ตั้งใจมาแล้วถ้าเขาฉายต่อก็จะดูหนังให้จบ คนอื่นนั่งดูได้เราก็นั่งดูได้ ดูแล้วมันทำให้นึกย้อนถึงอดีต แต่ก่อนนั่งดูหนังกลางแปลงยันหว่าง บางครั้งก็นอนหลับอยู่หน้าจอ ลูกก็ไม่เคยดูจึงพามาดูงานนี้ทำให้กรุงเทพฯ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทุกคนที่เคยเหนื่อยกับโควิดได้ปลดปล่อย


ด้าน กชพรรณ สังข์ตรีเศียร อายุ 53 ปี นั่งซ้อนรถมอเตอร์ไซด์สามีมาจากเพชรเกษม 48 เพื่อมาดูหนังกลางแปลง ซึ่งหลังจากพี่ฝนตกปรอย ๆ ทั้งคู่ได้ซื้อเสื้อกันฝนมาใส่ นั่งดูหนังกลางแปลงจนจบ เปียกก็เปียกไป พร้อมเผยว่า นึกถึงสมัยตอนเป็นเด็ก ชอบบรรยากาศตอนนั่งดูหนังกลางแปลงในงานวัด บรรยากาศแบบนี้มันหายไปนาน อยากให้บรรยากาศแบบนี้กลับคืนมาอีก ชอบมาก


ส่วนประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาระบุว่า งานดังกล่าวมีราคาจัดจ้างจอละ 8 ล้านบาท ตลอดงานทั้งหมดใช้ 20 จอ เท่ากับ 160 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายจริง ๆ จะเท่าไรไม่ทราบ รู้เพียงว่าราคาต่างกันมากกับช่วงที่อดีตผู้ว่าฯ อัศวิน เคยจัดฉายแถวคลองผดุงกรุงเกษม และปกติงานแบบนี้จ้างด้วยเงินไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น


วันที่ 8 ก.ค.65 บัณฑิต ทองดี ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมชี้แจงว่า กิจกรรมนี้นายกสมาคมผู้กำกับและทีมทำงานย่อยเป็นโต้โผจัดงาน ตนช่วยให้คำปรึกษาทีมจัดงานมาตลอด รู้ข้อมูลทุกอย่าง รวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยัน กทม. ไม่เสียเงินค่าเช่าจอสักบาท เพราะ กทม. ประสานงานเรื่องการอนุเคราะห์สถานที่เป็นหลัก ส่วนหอภาพยนตร์ เป็นเจ้าภาพเรื่องการฉาย โดยสมาคมหนังกลางแปลงคิดราคาให้เหลือแค่ 150,000 บาท ในการฉาย 25 ครั้ง เป็นแค่ค่าแรงทีมงานฉายหนังเท่านั้น เท่ากับจุดละประมาณ 6,000 บาท สุดท้ายนี้ขออย่าสร้างความแตกแยกด้วยความเข้าใจผิดเลย


สำหรับ กรุงเทพกลางแปลง จะเริ่มฉายตั้งแต่ 7 กรกฎาคม ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 และพิเศษอีก 1 วัน ในวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2565 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน จัดขึ้นโดย กทม. และภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ และ Better Bangkok และอื่น ๆ รวมกว่า 50 หน่วยงาน


https://youtu.be/UhjI8GT7zIg

คุณอาจสนใจ

Related News