สังคม

คาด ส.ค. - ก.ย. โควิด BA.4 - BA.5 ลามทั่วไทย ‘หมอธีระ’ เผยผลวิจัย กักตัว 5 วันยังไม่ปลอดภัย

โดย nicharee_m

2 ก.ค. 2565

2.8K views

จับตา ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมปรับแผนโรคประจำถิ่น 8 ก.ค.นี้ ศูนย์จีโนมฯ คาด ส.ค. - ก.ย. โควิด BA.4 - BA.5 ลามทั่วไทย ‘หมอธีระ’ เผยผลวิจัย กักตัว 5 วันยังไม่ปลอดภัย

วานนี้ (1 ก.ค.) พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 8 ก.ค. จะมีมาตรการอะไรต้องปรับเพิ่มหรือไม่ ว่าประเด็นหลักการประชุมวันดังกล่าวจะพิจารณาแผ่นการเดินหน้าให้โควิดเป็น Endemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่นตามที่กระทรวงสาธารณสุข และศบค.ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 1 ก.ค. แต่เนื่องจากมาตาการที่เราผ่อนคลายรวมถึงการแพร่ระบาดทำให้ต้องปรับแผน โดยมีการพูดคุยกันมาสองสัปดาห์ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปรับแผนให้มีความชัดเจน แล้วจะเสนอให้ศบค.พิจารณาเห็นชอบ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า จากผลตรวจหาสายพันธุ์ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ของไทย ยังคงพบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นมาตลอด ส่วนความรุนแรงของอาการและอัตราการแพร่เชื้อ จะมากกว่าโอมิครอน BA.2 หรือไม่ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม นี้ จะแถลงความชัดเจนอีกครั้ง

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศว่า มีการระบาด สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พอสมควร

จากการสุ่มตรวจของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ จากร้อยละ 0.6 ของประชาชนทั้งประเทศ พบผู้ป่วย BA.4 จำนวน 37 ราย BA.5 จำนวน 58 ราย BA.2 จำนวน 32 ราย จะเห็นว่า นี่จะเริ่มเป็นช่วงเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.5

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ติดเชื้อแล้ว กักตัว 5 วันตามแนวทางที่กำหนด จะปลอดภัยไหม?

ล่าสุดมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระยะเวลาที่ยังตรวจพบเชื้อ ปริมาณเชื้อ และเพาะเชื้อขึ้น หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19

จากข้อมูลวิจัยจะเห็นได้ว่า การกักตัว 5 วันหลังการติดเชื้อนั้นไม่เพียงพออย่างแน่นอน และยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังสามารถเพาะเชื้อได้ถึงอีกเกือบ 50% และยังมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบระดับสูง

ถ้าจะปลอดภัย ตามข้อมูลเรื่องปริมาณเชื้อ และอัตราการเพาะเชื้อขึ้น คือราว 2 สัปดาห์หรืออย่างน้อย 10 วันขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยากด้วยความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แรงงาน และการใช้ชีวิตในสังคม

ดังนั้น หากผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตหรือทำงานก่อนเวลา 7 – 10 วัน ก็ต้องตระหนักเสมอว่าอาจนำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นได้

จึงควรป้องกันตัวเข้มๆ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันต่อจนกว่าจะครบ 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า ไม่ถอดหน้ากากเวลาพบปะ ทำงาน หรือพูดคุยกับผู้อื่น รักษาระยะห่าง และที่สำคัญมากคือ ไม่ไปร่วมวงกินข้าวในที่ทำงาน ไม่ไปร่วมวงปาร์ตี้กินดื่มสังสรรค์ หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น

หากช่วยกันปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อตามสถานที่ต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดปัจจุบันได้บ้างไม่มากก็น้อย

ณ จุดนี้ ยังยืนยันว่า “การใส่หน้ากากเสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน” เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

โควิด ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID”


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/OpWEPouD0Ao

คุณอาจสนใจ

Related News