สังคม

"พ่อหมอกระต่าย" เผยศาลตัดสินโทษ "ส.ต.ต.นรวิชญ์" เป็นไปตามคาด แต่ไม่ตามหวัง

โดย pattraporn_a

25 เม.ย. 2565

59 views

ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต ระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกัน 2 แสนบาท โดยพ่อของสิบตำรวจตรีนรวิชญ์ใช้ตำแหน่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน


วันนี้ (25 เม.ย.) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาชั้นต้น คดีที่ สอบตำรวจตรี นรวิชญ์ ยังดก ผู้บังคับหมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชนแพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถีเสียชีวิต ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา


ใน 9 ข้อหา เช่น ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน และกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาอื่นๆ รวม 9 ข้อหา


โดย สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ เดินทางมาพร้อมกับพ่อ แต่งกายด้วยเสื้อเชิ๊ตสีขาว กางเกงสีครีม เดินหลบนักข่าวเข้าไปในศาลอย่างเงียบๆ ตอนประมาณ 8 โมงครึ่ง ซึ่งระหว่างรอฟังคำพิพากษาอยู่ในห้องพิจารณาคดี ก็นั่งเหม่อลอยไม่คุยกับใคร พอศาลเรียกตัวให้ยืนเพื่อฟังคำพิพากษา สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ ก็มีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด เมื่อศาลอ่านจบก็ก้มหน้านิ่ง และไม่ได้พูดอะไร


ซึ่งคาดมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 30 วัน แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 1 ปี 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา และปรับเงิน 4,000 บาท


จากนั้นพ่อและผู้บังคับบัญชา ของสิบตำรวจตรี นรวิชญ์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้ตำแหน่งราชการเป็นหลักทรัพย์ ศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ได้ โดยตีราคาประกัน 2 แสนบาท


ทีมข่าวโทรศัพท์สอบถาม นายแพทย์ อนิรุทธ์ ศุภวัตรจริยากุล พ่อของคุณหมอกระต่าย หลังทราบคำพิพากษา คุณพ่อบอกว่า ที่วันนี้ไม่ได้เดินทางไปร่วมฟังคำพิพากษา เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับคู่กรณี และผลเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่า คดีขับรถประมาทชนคนเสียชีวิต จะมีโทษตามบรรทัดฐานประมาณนี้ แต่หากถามความคาดหวังของครอบครัว ก็อยากให้มีโทษที่มากกว่านี้ เพราะผู้กระทำผิดเป็นตำรวจที่รู้กฎหมาย แล้วทำผิดเสียเอง


ส่วนกรณีที่ฝ่ายจำเลยจะมีการยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อนั้น เป็นสิ่งที่ครอบครัวคิดไว้อยู่แล้ว เพราะจุดประสงค์ของคู่กรณีก็คือไม่ต้องโทษจำคุก หรืออาจให้รอลงอาญา ครอบครัวต้องสู้ต่อแต่หากคดีไปถึงที่สุดแล้ว มีการลดโทษไปมากกว่านี้ คงรู้สึกผิดหวัง 


ส่วนคดีแพ่งที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 72 ล้านบาท ครอบครัวไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ยืนยันว่าไม่ได้ประเมินเกินเลยจากความเป็นจริง ซึ่งศาลนัดพร้อมคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ และในวันที่ 30 เมษายนนี้ ครอบครัวจะทำบุญ 100 วันให้กับหมอกระต่ายที่วัดไร่ขิง


ทางด้าน อาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ ประจำสำนักอัยการสูงสุด อธิบายกับเรื่องเด่นเย็นนี้ ถึงบทลงโทษในคดี "หมอกระต่าย" ว่าหลักการพิจารณาโทษ ในคดีความผิดเกี่ยวกับประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะพิจารณาจาก"เจตนา"ของผู้ก่อเหตุเป็นหลัก ไม่ได้มีการนำเรื่องการที่เป็นเจ้าพนักงานมาร่วมพิจารณา


แต่ในทางกลับกัน หากผู้ก่อเหตุ มีเจตนาร้าย หรือตั้งใจ และยังเป็นเจ้าพนักงานด้วย ก็จะถูกนำเรื่องดังกล่าวมีประกอบกาพิจารณาอัตราโทษด้วย ซึ่งก็จะมีโทษหนักกว่าปกติ


ทั้งนี้ ปกติอัตราโทษสูงสุดของคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่โดยทั่วไป เมื่อศาลพิพากษา ก็จะถูกพิจารณาโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของรถ ขนาดของรถ และความรับผิดชอบ


เช่น หากเป็นรถบรรทุก รถโดยสาร อัตราโทษก็จะหนักกว่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยอาจารย์ปรเมศวร์อธิบายว่า รถขนาดใหญ่ หรือรถโดยสาร ต้องรับผิดชอบชีวิตคนเยอะ เพราะต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่ารถขนาดเล็ก ซึ่งหากเกิดเหตุขึ้นมา ก็จะมีอัตราโทษสูงกว่า


ขณะที่ทางด้าน นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ.มองคำตัดสินศาลอาญา พิพากษาให้จำคุก 1 ปี 15 วัน ไม่รอลงอาญา แก่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก กระทำความผิดขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าศาลใช้ดุลยพินิจตามคำฟ้อง เพราะหากตั้งข้อหาตามความผิดมาตรา 291 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การลงโทษทั่วไปก็จะประมาณนี้ เพราะคำว่าประมาท ค่อนไปทางชี้นำว่าไม่ได้ตั้งใจ


ซึ่งหากเทียบเคียงกับคดีอื่นๆ ที่ฟ้องมาตรานี้ ก็มักจะลงโทษเพียง 2-3 ปี แม้โทษสูงสุดจะกำหนดไว้ได้ถึง 10 ปีก็ตาม ยิ่งพอรับสารภาพ ก็ลดลงกึ่งหนึ่ง เป็นตามเงื่อนไขกฎหมาย


นพ.ธนะพงศ์ ได้แนะให้จับตา คดีฟ้องแพ่งที่คุณพ่อหมอกระต่าย ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายถึง 72 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย โดยเชื่อมโยงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ถึงความรับผิดชอบเหมือนเช่นที่ต่างประเทศทำ แต่ปัญหาที่ผ่านมา การฟ้องร้องจะใช้เวลายาวนาน 7-8 ปี อย่างเช่นกรณี ศาลจังหวัดจันทบุรี ตัดสินให้ บขส.ชดใช้เหยื่อรถตู้ไปคลอก เมื่อปี 2560 เป้นเงิน 26 ล้านบาท ฐานเป็นเจ้าของสัมปทาน



ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/CwuwlrGh7Ew 

คุณอาจสนใจ