สังคม

ชาวบ้านร้อง กอ.รมน "โครงการออมวันละบาท" ส่อทุจริต เงินฝากชาวบ้าน 800 คนหมดเกลี้ยง สูญกว่า 7 ล้านบาท

โดย paranee_s

2 ธ.ค. 2565

622 views

วันนี้ (2 ธ.ค 65) เวลา 9.30 น.ที่สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครพนม บริเวณชั้นสามอาคารศาลากลางหลังเก่า ตัวแทนของสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนมกว่า 10 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พ.อ. สมหมาย บุษบา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครพนม (กอ.รมน)


หลังพบว่าไม่สามารถถอนเงินที่ฝากไว้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคำเตยได้ โดยคณะกรรมการกองทุนอ้างว่าไม่มีเงินเหลือให้ถอนได้อีกทั้ง ๆ ที่สมาชิกไม่เคยถอนเงินที่ฝากเลย


โดยโครงการดังกล่าวมีสมาชิกเป็นชาวบ้านจาก 18 หมู่บ้านในตำบลคำเตย ได้ร่วมกันเป็นสมาชิกกองทุนรวมกว่า 800 คนและได้เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 15 ปี มีมูลค่าเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 7 ล้านบาท


นางกรรมิกา อายุ 45 ปี ชาวบ้านหนองยาว ตำบลคำเตย อ.เมือง จ.นครพนม กล่าวว่าเหตุที่มาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจาก กอ.รมน . เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปร้องกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนมแล้ว ซึ่งทางศูนย์ดำรงธรรมแนะนำให้ไปพบกับยุติธรรมจังหวัด และช่วยหาทนายความฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนให้กับชาวบ้าน


โดยเสียค่าทนายความไปแล้วกว่า 3 หมื่นบาทแต่คดียังไม่ไปถึงไหน ประกอบกับพวกตนเห็นว่าเหตุการณ์นี้เข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน จึงนำเรื่องเข้าหารือกับ กอ.รมน. ท่านก็เห็นด้วยว่าเข้าข่ายฉ้อโกงจึงแนะนำให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองนครพนม เพื่อดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการของกองทุนฯทั้งหมดก่อน


ส่วนการสอบสวนจะพาดพิงถึงใครบ้างค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มแรกกองทุนฯ นี้ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อราว ๆ ปี 2550 ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่ของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนมร่วมกับ อบต. คำเตย ช่วยกันรณรงค์ให้มีการออมของชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน มีการอ้างว่าเมื่อเข้าร่วมแล้วจะมีสวัสดิการมากมายให้ และจัดให้มีการออมเงินคนละ 1 บาท ทุกวัน


ต่อมาจะมีกรรมการกองทุนไปเก็บเงินเดือนละหนึ่งครั้งจากสมาชิก เพื่อนำส่งให้กับประธานกองทุนเก็บรักษาไว้เป็นเงินฝาก ซึ่งหากต้องการถอนเงินเมื่อไหร่ก็สามารถถอนได้ทันที โดยทางกองทุนจะจัดทำสมุดเงินฝากให้กับสมาชิกทุกคนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่าตนเองมีเงินฝากแล้วจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตนก็เข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน


ตนและสมาชิกในครอบครัวมีสมุดเงินฝากกับกองทุนนี้รวมทั้งสิ้น 8 เล่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่น โดยทำการฝากเงินมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยถอนตลอดระยะเวลาประมาณ 15 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนเป็นต้นมา


จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2565 มีสมาชิกขอถอนเงินในบัญชีของตน โดยแจ้งแก่คณะกรรมการบริหารกองทุน แต่ทางผู้บริหารกองทุนไม่สามารถให้เบิกได้โดยอ้างว่าเงินดังกล่าวถูกใช้ไปจนหมดแล้วไม่มีเงินเหลืออยู่เลย จึงไม่สามารถหาเงินมาให้ถอนได้ พวกตนจึงพากันไปร้องต่อนายก อบต.คำเตย คือนายไพศาล ให้ช่วยดำเนินการ


แต่ทางนายกอบต.คำเตย กลับบอกว่าทางอบต.คำเตยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับทางกองทุนฯดังกล่าวตั้งแต้ได้ก่อตั้งกองทุนมาได้เพียงสามปี เนื่องจากทางคณะกรรมการของกองทุนไม่ปฎิบัติตามระเบียบทางอบต.จึงได้ถอนตัวออกมาตั้งแต่สามปีแรกแล้ว


พวกตนจึงได้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมาร้องทุกข์กับหน่วยงานที่ควบคุมดูแลกองทุนดังกล่าวเรื่อยมา แต่ยังไม่เป็นผล โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วม 15 ปี มีสมาชิกกว่า 800 ราย เฉลี่ยมีเงินออมไว้กับโครงการดังกล่าวตั้งแต่ 2,000บาทถึง 5,000บาท จากชาวบ้านจำนวน 18 หมู่บ้านในตำบลคำเตย มูลค่ารวมกว่า 7 ล้านบาท


ส่วนนายทรัพย์ อายุ 65 ปี อยู่ในบ้านหนองดินแดง ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนม เปิดเผยว่า ตนและสมาชิกในครอบครัวมีบัญชีเงินฝากกับกองทุน นี้ รวม 7 เล่ม มีเงินฝากรวมทุกบัญชี ประมาณ 3 หมื่นบาท มาทราบเรื่องว่าน่าจะถูกโกงเมื่อหลานเรียนจบชั้นประถมแล้วจะต้องไปเรียนต่อชั้นมัธยมในเมือง ซึ่งต้องให้เงินเพิ่มขึ้น จึงต้องการถอนเงินที่ออมไว้กับกองทุนมาเกือบ 15 ปี ออกมาใช้


แต่พอไปถอนเงินทางผู้บริหารกองทุนกลับบอกว่าเงินหมดแล้วไม่มีเหลือให้ถอนได้ ตนก็ร้อนใจชวนเพื่อบ้านไปติดต่อสอบถามกับประธานกองทุนคือนายรินทร์ ว่าเงินหายไปไหนหมด ก็ได้รับคำตอบว่าเงินถูกนำไปใช้จ่ายกับการช่วยงานศพสมาชิกบ้างจ่ายช่วยเหลือสมาชิกยามเจ็บป่วยบ้าง และได้นำไปซื้อคุรุภัณฑ์เช่นตู้เก็บเอกสารบ้าง จนหมดไม่มีเหลือแล้ว


เมื่อตนเห็นว่า เงินฝากของตนที่ฝากไว้กับกองทุนน่าจะถูกนำไปใช้หมดแล้วจึงชักชวนสมาชิกที่เดือดร้อนมาร้องเรียนกับ กอ.รมน. เนื่องจากเห็นว่าเป็นทหารน่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้


ด้าน พ.อ.สมหมาย บุษบา รอง ผอ.กอ.รมน. จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า หลังรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านแล้ว เบื้องต้นตนเห็นว่าเข้าข่ายการยักยอกทรัพย์ หรือการฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากมีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนหลายร้อยคน จึงได้ทำหนังสือส่งเรื่องไปยัง สภ.เมืองนครพนม ให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนเพื่อให้พนักงานสอบสวนเรียกตัวผู้เสียหายมาสอบปากคำโดยละเอียดอีกครั้งเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป


โดยจากรายงานการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคำเตย ของสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครพนมลงวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ระบุว่ากองทุนดังกล่าวตั้งอยู่ที่บ้าน หมู่ 1 บ้านหนองดินแดง ตำบลคำเตย อ.เมือง จ.นครพนม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2550 ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 7 จังหวัดกาฬสินธุ์ (สสว. 7) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดนครพนม มีนายรินทร์ ไมตรี เป็นประธาน กองทุน มีสมาชิก จำนวน 1,450 คน


ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีแหล่งที่มาของเงินกองทุน คือ 1.เงินออมสัจจะ วันละ 1 บาทจากสมาชิก 2. เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน 3.เงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4. เงินจากองค์กรชุมชนที่รวมกลุ่มกันแล้วนำเงินมาสมทบ


รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า สถานะทางการเงินของกองทุน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึง ณ เดือนกันยายน 2564 กองทุนมีเงินรายได้ทั้งสิ้น 7,154,477 บาท (เจ็ดล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นสี่พัน สี่ร้อยเจ็ดสิบเจ็ดบาท) โดยแบ่งรายรับจากเงินออมของสมาชิก 5,869,757 บาท เงินสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 1,134,720 บาท และเงินสมทบจากองค์การบริหารส่วนตำบล คำเตยอีก 150,000 บาท


ส่วนรายจ่ายของกองทุนได้แก่

1. จ่ายสวัสดิการกรณีคลอดบุตร ไม่ระบุจำนวนว่ามีกี่ราย เป็นเงิน 215,500 บาท

2. จ่ายสวัสดิการกรณีผู้สูงอายุ (เงินขวัญถุง) ไม่ระบุจำนวนว่ามีกี่ราย เป็นเงิน 199,200 บาท

3. จ่ายสวัสดิการช่วยเหลือยามเจ็บป่วย 670 รายเป็นเงิน 242,900 บาท

4. จ่ายสวัสดิการกรณีเสียชีวิต 304 ราย เป็นเงิน 3,109,690 บาท

5. จ่ายเงินคืนสมาชิกกรณีลาออก 1,124 ราย เป็นเงิน 3,114,702 บาท

6. จ่ายค่าพาหนะ ในการเดินทางไปฝากเงินและไปประชุม สัมมนา เป็นเงิน 37,255 บาท

7. จ่ายค่าครุภัณฑ์ เป็นเงิน 71,950 บาท


รวมรายจ่ายทั้งสิ้น 6,991,197 บาท คงเหลือเงินในบัญชีเงินฝากของกองทุน 4,192.62บาท โดยรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคำเตย ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงิน และคณะกรรมการบริหารกองทุนไม่จัดทำสรุปผลการดำเนินงานประจำปี ทำให้ไม่อาจทราบรายรับและรายจ่ายของกองทุนได้อย่างชัดเจน ซึ่งแม้มีการอ้างจ่ายเงินคืนสมาชิกโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ มาแสดง จึง มีความเห็นให้ชะลอการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนคำเตยไว้ก่อน

คุณอาจสนใจ

Related News