สังคม

อุตุฯ ประกาศฉบับ 8 เตือน 'พายุโนรู' ถล่มไทย 28 ก.ย.-1 ต.ค. ตั้ง 5 ศูนย์วอร์รูม รับมือทันท่วงที

โดย thichaphat_d

27 ก.ย. 2565

1K views

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา

"พายุ โนรู"

ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 27 กันยายน 2565

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (27 ก.ย. 2565) พายุไต้ฝุ่น “โนรู” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 490 กิโลเมตร จากเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันตามลำดับ โดยจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น

ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้



วันที่ 28 กันยายน 2565

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดสกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล



วันที่ 29 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


วันที่ 30 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 กันยายน - 1 ตุลาคม 2565

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 11.00 น

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

----------------------------------


ขณะที่วานนี้ (26 ก.ย.) ที่ห้องปฎิบัติการพยากรร์อากาศชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการร์ พายุไต้ฝุ่น "โนรู (Noru)" เพื่อติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์พายุร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยา ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่

ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี, ภาคใต้ตอนบน จ.สงขลา และ ภาคใต้ตอนล่าง จ.ภูเก็ต

รวมทั้งจะมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรายงานสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการฯ จะมีการ Conference กับสถานีอุตุนิยมวิทยาในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ บริเวณที่พายุอาจจะเคลื่อนตัวผ่าน และร่วมกันประเมินสถานการณ์ หากมีความรุนแรงจะมีการสั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่นรับทราบ และแจ้งเตือนประชาชนให้รับมือได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้การเปิดศูนย์อำนวยการติดตามพายุโนรู เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าพายุลูกนี้ค่อนข้างจะมีความรุนแรง บวกกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายต่างๆ เริ่มล้นตลิ่งในบางพื้นที่ และพื้นที่เขาอาจเสี่ยงเกิดดิน น้ำป่าไหลหลาก ถล่มเนื่องจากดินอิ่มน้ำไม่ไหว จึงต้องมีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 100 มิลลิเมตร

ทั้งนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รับแจ้งว่า ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก พบพายุโซนร้อนอีก 1 ลูก ชื่อว่า “กุหลาบ” แต่ทิศทางเคลื่อนไปทางเหนือ ซึ่งไม่มีผลต่อประเทศไทยแต่อย่างใด


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/5IHD65m1mf4

คุณอาจสนใจ

Related News