สังคม

แพทย์เผย ‘ฝีดาษลิง’ หายได้เอง พบอัตราป่วยเสียชีวิต ต่ำกว่าไข้ทรพิษ 8,000 เท่า

โดย petchpawee_k

29 ก.ค. 2565

38 views

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2565 พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษลิง ถ้าเกิดการป่วยติดเชื้อโดยตัวโรคจะสามารถหายได้เอง แต่จะต้องมาดูแลพิเศษในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมีอาการรุนแรง คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ

กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลคลินิกผิวหนัง หารือถึง แนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง  ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง หรือ EOC สธ.ในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค.2565

สำหรับโรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่ากันมากๆ หากเทียบข้อมูล กับไข้ทรพิษทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60% ของผู้ป่วย ส่วนฝีดาษลิง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่รายงานในปีนี้ พบว่ามีอัตราเสียชีวิต 0.007% โดยขณะนี้ มีผู้เสียชีวิต 5 รายจากผู้ป่วย 1.6 หมื่นราย ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ถึงผู้เสียชีวิต 5 รายว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง


ดังนั้น จะเห็นความแตกต่างของอัตราเสียชีวิตชัดเจน ต่างกันกว่า 8,000 เท่า  แต่ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เพราะ มีการติดต่อข้ามทวีป ซึ่งพบการระบาดเกิดขึ้น


ขณะนี้มีข้อมูลเผยแพร่ว่า โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัส ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผลของผู้ป่วย แต่ถ้าใกล้ชิดมากๆ เช่น กินข้าวหรืออยู่บ้าน นอนด้วยกัน ก็อาจติดต่อทางฝอยละอองได้ การรับเชื้อไวรัสกรณีผู้ที่ไม่มีบาดแผลที่ผิวหนังเลย เชื้อจะเข้าได้จากการสัมผัสด้วยมือแล้วไม่ได้ล้างให้สะอาด เชื้ออาจก่อให้เกิดตุ่มหนองในคอ ในปากได้ หรือเข้าทางเยื่อบุตา อย่างไรก็ตาม ไวรัสของโรคฝีดาษลิงมีเปลือกหุ้มอยู่ โดยธรรมชาติก็จะเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตายหมด แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่นั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ


ถามถึงอัตราการแพร่เชื้อต่อของผู้ป่วย หรือ R0 ของโรคฝีดาษลิง พญ.นฤมลกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ถือเป็นโรคใหม่ของยุโรปและของไทย แต่เป็นโรคที่ระบาดในแอฟริกามานานแล้ว ฉะนั้น  ประเทศไทยกดจะมีองค์ความรู้โรคฝีดาษลิงน้อย แต่ติดตามข้อมูลอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม ที่มีการระบาดออกจากแอฟริกาเพราะเชื้อมากับคน ซึ่งระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิของแต่ละคน โดยทั่วไปที่รับเชื้อมามาก ระยะฟักตัวอย่างเร็วที่สุดจะอยู่ที่ 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น


“ภูมิแต่ละคนส่งผลต่อการแสดงอาการทางคลินิก โดยภูมิฯ เกิดจากการฉีดวัคซีน คือในคนไทยที่อายุมากกว่า 40 ปีจะได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว ซึ่งภูมินี้ป้องกันการติดเชื้อถึง 80% แต่ในเด็กที่มีรายงานข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ก็พบน้อยเช่นกัน แต่ถ้าคนที่ได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว เกิดกินยากดภูมิฯ อยู่แล้วติดเชื้อ ก็อาจมีอาการรุนแรงได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนของโรค ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โรคประจำตัว" พญ.นฤมลกล่าว

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/W_5tWdR9KJM

คุณอาจสนใจ

Related News