สังคม

จับตาโอมิครอน BA.2.75 พบกลายพันธุ์คล้าย ‘เดลตา’ ผลวิจัยชี้ แพร่เชื้อเร็วกว่า BA.5

โดย petchpawee_k

4 ก.ค. 2565

55 views

สถานการณ์โควิดทั่วโลกรวมถึงในไทยเริ่มกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังพบในหลายประเทศทั่วโลกกลับมาพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 –BA.5 ทำให้แพทย์หลายท่านในประเทศไทยออกมาแสดงความกังวลถึงการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าว


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า มองสถานการณ์ครึ่งหลังของปี 2565: BA.5 การระบาดระลอกที่ 5 ของไทย


ลักษณะการระบาดของ BA.5 เท่าที่ติดตามข้อมูลมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มี BA.5 ระบาดมาก่อนเรานั้น ตอนนี้มีราว 20% ที่มี peak สูงกว่าระลอกก่อนหน้า โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เสรีใช้ชีวิตโดยไม่ป้องกันตัว กิจกรรมเสี่ยง ความแออัด รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากหน่วยงานรัฐ


หมอธีระยังระบุด้วยว่า ระบบรายงานสถานการณ์ในปัจจุบันของไทย ไม่สะท้อนสถานการณ์จริง เพราะเลือกรายงานเฉพาะเคสที่ป่วยและเดินทางมารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงจำนวนเสียชีวิตที่ไม่มีโรคร่วม


ดังนั้นประชาชนจึงไม่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ เพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างทันเวลา ต้องรอแถลงจากหน่วยงาน ซึ่งก็จะไม่รู้ว่าอยากจะแถลงอะไร เมื่อไหร่ และเป็นเศษส่วนเท่าไหร่ของข้อมูลทั้งหมดที่ควรจะรู้ ทำให้ตกอยู่ในสภาพตาบอดคลำช้างได้


ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการดูแลรักษา หลัง 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา สธ.และ สปสช. ยกเลิกบริการระบบ home isolation และให้ประชาชนที่มีสิทธิรักษาพยาบาลไปรับการดูแลรักษาตามสิทธิ นั่นแปลว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีสิทธิบัตรทอง หากตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อ หรือมีอาการไม่สบายที่สงสัยว่าเป็นโควิด-19 ก็จะต้องเดินทางไปสถานพยาบาลเอง เพื่อขอรับบริการเจอแจกจบที่สถานพยาบาล


ความเสี่ยงและผลกระทบย่อมเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น

1. คนเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล เพื่อรับการดูแลรักษาเจอแจกจบ

2. คนจำนวนไม่น้อย จะชั่งใจคิดว่าจะคุ้มไหม ที่ต้องเสียเวลารอที่โรงพยาบาล และเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปกลับ เพื่อรับยาที่มีประสบการณ์และทัศนคติในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ใช่ยาต้านไวรัสรักษาเฉพาะโรค ดังนั้นจึงเลือกที่จะไม่ไป ไม่มีรายงานสถานะการติดเชื้อเข้าระบบ ทำให้ระบบเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ที่มีของหน่วยงานรัฐมีตัวเลขเรื่องการระบาดน้อยกว่าสถานการณ์จริง


หากโรคระบาดนี้รุนแรงภายหลัง หรือก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว เช่น ปัญหา Long COVID ตามมา กว่าจะรู้ตัว ก็จะเป็น big wave ของผลกระทบ ยากที่จะรับมือได้ทัน เพราะความไวของระบบไม่มากพอที่จะตามสถานการณ์ได้


3. ปรากฏการณ์ตรวจเองพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่แจ้ง ไม่รักษา ไม่แยกกักตัว อาจเพิ่มขึ้น เพราะระบบช่วยเหลือสนับสนุนทางสังคมไม่มีหรือระบบมีแต่เป็นแบบที่มีความเสี่ยง  ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาการระบาดที่แพร่กระจายต่อเนื่องในสังคมได้

---------------------------------------------------------------------------

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงแนวโน้มการกลายพันธุ์ของ "โอไมครอน"  คาดว่าอีกไม่นานไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 จะมีการพูดถึงในสื่อมากขึ้น


ข้อมูลตอนนี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่าหลายประเทศมีการรายงานไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว เช่น ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้รับความสนใจด้วยเหตุผล 2 ประการหลัก ๆ คือ


1. เป็น BA.2 ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มถึง 9 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ (เทียบกับ BA4/BA5) แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ 493 (R493Q) เป็นการเปลี่ยนกลับจากโอมิครอนไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้บางคนนับว่าเป็น 8 ตำแหน่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าปกติ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ 446 ซึ่งเปลี่ยนจาก G (Glycine) ไปเป็น S (Serine) G446S เคยมีคนพูดถึงว่าเป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสหนีภูมิจากการจับของแอนติบอดีได้มากขึ้น


2. ข้อมูลของจำนวนตัวอย่างไวรัสที่ถอดรหัสในอินเดียพบการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์นี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งถ้าจำได้เป็นถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์อย่างเดลต้ามาก่อน มีผู้พยายามเปรียบเทียบความสามารถของ BA.2.75 กับ BA.5 ในการแพร่กระจาย มีแนวโน้มว่า BA.2.75 จะวิ่งได้ไวกว่า แต่เนื่องจากตัวอย่างยังมีไม่มาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังมีน้อย


ทั้งนี้ยังไม่มีประเด็นเรื่องของความรุนแรงของเชื้อชนิดนี้ออกมา คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดครับ


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/dBg1e8B9tFM

คุณอาจสนใจ

Related News