สังคม

ชัชชาติ ถก สภาองค์กรของผู้บริโภค รับข้อเสนอเคาะราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดย nutda_t

29 มิ.ย. 2565

53 views

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับหนังสือข้อเสนอแนะจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายหลังได้ใช้เวลาพูดคุยกับตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค นานกว่า 30 นาที



ทั้งนี้นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค ยอมรับว่า การพบผู้ว่าฯกทม.วันนี้ เพื่อต้องการให้ กทม.รับฟังปัญหาของผู้บริโภค ที่คนกรุงเทพมหานครมีความลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารแพง



วันนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ประเด็น ไปยังผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย

1. ขอให้ยกเลิกเพดานราคาค่าโดยสาร 59 บาท เพราะเป็นราคาที่สูง ทุกคนไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้

แต่เห็นด้วยที่จะให้มีการเก็บค่าโดยสาร สถานีคูคตมายัง สถานี 5 แยกลาดพร้าว



2. ขอให้กรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสาร 44 บาทตลอดสาย ทั้ง 2 ฝั่งของส่วนต่อขยาย เพื่อดูแลบริษัทรับสัมปทาน คือบีทีเอส ด้วย และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นต่อไป เพราะไม่มีประเทศไหนที่คิดค่าบริการประชาชนเท่ากับเงินที่ลงทุนไป แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนค่าบริการบางส่วน



3. ขอให้มีการแก้ไขสัญญาการเดินรถที่ต่อสัญญาเกินไปถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการทำสัญญาเกิน สัญญาสัมปทาน เพราะสัมปทานจะหมดในปี 2572



4. สนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และขอให้ใช้วิธีการประมูลแข่งขันการทำสัญญากับเอกชน



และข้อ 5. เสนอว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ราคาค่าบริการควรอยู่ที่ 25 บาท และขอให้มีการมีตั๋วรายเดือน ตั๋วนักเรียน พร้อมเปิดเผยสัญญาสัมปทานใหม่



ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่าการกำหนดราคา 59 บาท เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ตามข้อเสนอแนะของทีดีอาร์ไอ ซึ่งปัจจุบันการให้บริการรถไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนที่เป็นไข่แดงเดิม ก็คิดราคา 44 บาทอยู่แล้ว หากคิดราคาตลอดสาย รวมส่วนต่อขยาย ในราคา 44 บาทเท่าเดิม การวิ่งส่วนต่อขยายส่วนที่ 1-2 เท่ากับ กทม.ไม่ได้เงินเลย ดังนั้นต้องไปดูความเป็นไปได้ ว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่ และต้องไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารสายอื่นด้วย



ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานนั้น ในข้อสัญญามีข้อตกลงว่าห้ามเปิดเผย ดังนั้นต้องดูข้อกฎหมายว่าจะเปิดได้หรือไม่อีกที



ซึ่งวันนี้เป็นการรับข้อเสนอ ส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องดูให้สมดุล มีทั้งคนที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส และไม่ใช้บีทีเอสซึ่งจะต้องดำเนินการส่วนนี้ด้วย เพราะเราไม่สามารถเอาเงินของประชาชนที่ไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส มาจ่ายแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้



ปัญหาหลักขณะนี้คือ สัญญาว่าจ้างเดินรถที่เซ็นไว้ก่อนแล้ว จากปี 2572 ไปสิ้นสุดปี 2585 กลายเป็นปัญหา ที่ค้ำคอการตัดสินใจของกรุงเทพมหานคร เพราะมีค่าใช้จ่ายกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ต้องไปดูว่าทำอย่างไรสัญญาการจ้างเกินรถไม่ต้องถึงปี 2585



นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามถึงภาระหนี้ ที่กรุงเทพมหานครยังติดค้างจ่ายเอกชนค่าจ้างเดินรถ และหน่วยงานรัฐ จากหนี้โครงสร้างพื้นฐาน



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า หากจะต้องจ่ายก็จะต้องมีความชัดเจน ว่าหนี้ที่มีนั้น ที่มาที่ไปของภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะจากเอกชน และจะต้องมาพิจารณาดูด้วยว่าเงินที่จะนำมาชำระ จะมาจากแหล่งเงินกู้ใด ซึ่งหากกู้เงินจากหน่วยงานรัฐ ดอกเบี้ยก็จะถูกกว่าเอกชน และส่วนใดที่รัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน กทม.

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ