สังคม

เวทีเสวนา 90 ปีรัฐสภา แท็กทีม 3 คนรุมขยี้นายกฯ ปมไม่มาตอบกระทู้สด

โดย taweelap_b

27 มิ.ย. 2565

242 views

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐสภาจัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา หัวข้อ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาฯ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ร่วมเสวนา


นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้เป็นประธานรัฐสภาในปี 2539 ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภามาปีนี้ก็ 43 ปีแล้ว แต่คิดว่ายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมาย และไม่ถึงความฝัน นอกจากนี้ ยังรู้สึกผิดหวังลึก ๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การกระจายอำนาจ ให้ประชาชนทุกจังหวัดมีสภาจากการเลือกตั้ง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตัวเอง สภาต้องไม่ทำงานให้รัฐบาลกลางอย่างเดียว


นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า รัฐสภาปัจจุบันมีช่องทางในการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ทำให้ประชาชนมีโอกาสติดตามบทบาทสมาชิกได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกตามลำดับ และจะส่งผลต่อรัฐบาลด้วย แต่ต้องไม่มีการซื้อเสียง งูเห่า และการแจกกล้วย ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐสภา คือ ถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึก บวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึก และนายทุน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน และสร้างความรู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร


"รัฐสภาต้องยึดโยงกับประชาชน โดยส.ว. ควรมีหน้าที่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มามีส่วนในการทำกฎหมายปฏิรูป หรือกฎหมายสำคัญอื่น ๆ และฝากไปถึงฝากเรื่องกระทู้ถามสด ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟังและเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดอยู่แล้ว" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว


ขณะที่นายโภคิน กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังพอสมควร เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 40 นั้นตกผลึกที่สุดแต่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร มีประชาชนจำนวนน้อยมากที่จะลุกขึ้นสู้กับรัฐประหาร และปัจจุบันมีการออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ตนอยากให้ผู้ที่มาจากประชาชนทุกคนลุกขึ้นสู้กดดันศาล อย่าให้คนทำลายประชาธิปไตยกลับมาสร้างประชาธิปไตยใหม่ เพื่อให้เส้นทางรัฐสภามีความสง่างาม ตนมองว่า 90 ปีการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่นำมาซึ่งอำนาจนิยมฝั่งรากกดทับประชาชน ดังนั้น ต้องขจัดความคิดนี้เพื่อให้รัฐเอื้อต่อประชาชน เพราะไม่เช่นนั้น อีก 10 ปีก็แก้ไขไม่ได้


นายโภคิน กล่าวต่ออีกว่า ข้อดีการมีรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่มีอะไรสะดุด ทุกอย่างก็จะไหลลื่น และนายกฯ มาตอบคำถาม แต่เมื่อยึดอำนาจมา ก็ด้อยค่าสภาฯ แม้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีวิป แต่ฝ่ายรัฐบาลมักเลือกหยิบร่างกฎหมายที่ตนเองเสนอมาพิจารณาแซงลำดับร่างกฎหมายที่ส.ส.เข้าชื่อ ทำให้กฎหมายดี ๆ หลายฉบับ เมื่อยุบสภาก็ต้องตกไป และตนเห็นด้วยกับการตั้งกระทู้ถาม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคำถามสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชน และสิ่งที่ตนอยากให้สภาฯ ทำคือช่วยรับฟังเสียงประชาชน ส.ส.ต้องสะท้อนปัญหาพื้นที่ สะท้อนปัญหาโครงสร้าง กดดันรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การรัฐประหารไม่ควรจะเป็นคำตอบให้กับเรื่องใด ๆ แต่ต้องมีวิถีในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าถามคนทำก็ให้เหตุผลทุกครั้ง เช่น ทุจริต บ้านเมืองแตกแยก หรือแม้แต่เรื่องละเอียดอ่อนอย่างเรื่องสถาบัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ทุกคนไม่ให้คนทำไปอ้างได้อีก ส่วนที่มีคนนำดอกไม้ไปให้ในการทำปฏิวัติ คนในประเทศคงไม่ได้คิดอะไร แค่รู้สึกว่าจบเสียที สิ่งที่ต้องทำจากนี้คือ ยืนยันรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ ไม่ทำตัวให้เป็นเงื่อนไข และแนววินิจฉัยของศาลจะต้องไม่รับรองการรัฐประหาร


นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เรายังไม่มีวัฒนธรรมเหมือนกับประเทศประชาธิปไตย ที่มีระบบรัฐสภา ที่ทำให้ฝ่ายบริหารเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดวิวาทะ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ตำหนิพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ แล้วนายกฯ ถามกลับว่าแรงไปหรือไม่ ตนอยากบอกว่ารองประธานสภาฯ พูดเบาเกินไป และอยากให้นายกฯ ตระหนัก ถ้าไปดูประเทศที่ใช้การปกครองระบบรัฐสภา ผู้นำประเทศต้องถืองานสภาโดยเฉพาะตอบกระทู้เป็นอันดันหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาประมาณชั่วโมงถึงสองชั่วโมงเท่านั้น ไม่มีข้ออ้างที่จะมาตอบกระทู้ไม่ได้ เพราะทราบอยู่แล้วว่ากระทู้ถามสดเกิดขึ้นวันไหน เวลาใด ถ้าบริหารจัดเวลา 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ จะบริหารประเทศอย่างไร การมาตอบกระทู้ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคนิค เหมือนที่นายกฯ กล่าวไว้ แต่การมาตอบเพื่อให้เจ้าของประเทศรับทราบถึงหลักคิดบริหารประเทศ


นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นักการเมืองความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่ากฎหมาย ถ้าปล่อยให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ไม่มีความรับผิดชอบ เราจะไม่พ้นภาพลักษณ์แย่ของนักการเมือง ความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งไม่ได้แปลว่าผิด แต่เป็นการรักษากระบวนการทางการเมืองให้เดินต่อได้ และรักษาศรัทธา แต่ของเรามีแต่บอกว่าให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย หลงทางกระทั่งให้ศาลวินิจฉัยจริยธรรม ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำ อีกเรื่องคือประมวลกฎหมายจริยธรรม เมื่อใดถึงจะศักดิ์สิทธิ์ นักการเมืองญี่ปุ่นลาออกจากรัฐมนตรี เนื่องจากนั่งหลับตอนแถลงข่าวช่วงบ่าย เพราะกินเหล้าตอนกลางวัน เวลาใกล้เคียงกันกับรัฐสภาเรา มีส.ส. ดื่มจนอาละวาด ใช้เวลาสอบ 2 ปี ยังบอกไม่ได้ว่าเมาหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้รักษาศรัทธาไม่ได้

คุณอาจสนใจ

Related News