สังคม

เคสแรกของโลก! ม.อ.แถลงงานวิจัย โควิดจาก ‘แมวสู่คน’ เผยแมวจามใส่สัตวแพทย์ตอนตรวจ

โดย petchpawee_k

21 มิ.ย. 2565

37 views

ทีมแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แถลงงานวิจัย โควิดจาก ‘แมวสู่คน’ คาดเคสแรกของโลก พบแมวติดเชื้อจากเจ้าของ คลุกคลีใกล้ชิด ส่วนสัตว์แพทย์ถูกแมวจามใส่ตอนตรวจ ทำติดเชื้อไปด้วย เตือนคนรักสัตว์ หากสงสัยติดโควิดให้อยู่ห่างจากสัตว์เลี้ยงจนกว่าจะปลอดภัย


จากกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศ The New York Times เผยแพร่ผลงานวิจัยของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) โดยระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเป็นการติดจาก “แมว” สู่ “คน” เป็นครั้งแรกของโลกนั้น


ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ห้องประชุม 201 ชั้น 2 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลและเป็นหนึ่งในทีมวิจัยดังกล่าว แถลงชี้แจงว่า เคสนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วง เดือนสิงหาคม 2564 ขณะนั้นมีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ 32 ปี แต่เตียงไม่พอรักษา จึงประสานเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมา 2 คน พร้อมกับแมวที่เลี้ยงไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวพันธุ์ไทย สีส้ม อายุ 10 ปี


วันที่ 8 ส.ค.64 มีการนำตัวผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด-19 ของ ม.อ. ส่วนแมวได้ส่งไปให้สัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน วันที่ 10 ส.ค.64 มีการตรวจโดยการแยงจมูกและตรวจทวารหนัก โดยสัตวแพทย์และทีมงาน รวม 3 คน ปรากฏว่าระหว่างทำการตรวจนั้น แมวได้จามออกมา และโดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่ง อายุ 32 ปี ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือและหน้ากากอนามัย ไม่มีเฟซชิลด์ หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด  หลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่าเป็นบวก มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่วนสัตวแพทย์ท่านนี้หลังจากตรวจแมวได้ 3 วัน ในวันที่ 13 ส.ค.64 ก็เริ่มมีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก และในวันที่ 15 ส.ค.64 ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา



รศ.ดร.นพ.ศรัญญูกล่าวว่า ทั้งคู่พ่อลูก แมว และสัตวแพทย์ อาการไม่หนักมาก หลังรักษาตัวอยู่เกือบ 10 วัน ก็ออกจากโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ จากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี ไม่มีอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด



ทั้งนี้ จากกรณีที่เกิดขึ้นได้มีการตั้งสมมุติฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยพบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่างคือ ระยะการฟักตัวของโรค โดยในคนเชื้อจะอยู่ได้ราว 1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลา และอีกส่วนคือ การตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมว และสัตวแพทย์ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่ๆ หลายจุดใน จ.สงขลา เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่าแมวอาจรับเชื้อมาจากชุมชน หรือแหล่งอื่นหรือไม่ แต่พบว่า ไม่ตรงกัน



จึงได้ข้อสรุปว่า แมวติดเชื้อโควิด-19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด และเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าแมวติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ก่อนจะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำการตรวจ เนื่องจากแมวได้จามออกมาใส่โดยตรง ซึ่งสัตวแพทย์ไม่ได้สวมเครื่องป้องกัน ทั้งเฟซชิลด์และเครื่องป้องกันดวงตา จึงรับเชื้อเข้าไปเต็มๆ ส่วนทีมงานอีก 2 คน ปลอดภัยเนื่องจากไม่ได้อยู่ใกล้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/LB5Ps-QByWg

คุณอาจสนใจ

Related News