สังคม

รองโฆษกอสส.เผยพิสูจน์ GT200 ไม่มีผลแล้ว เหตุศาลสั่งทบ.ชนะให้เอกชนคืนเงินปลายปี 64

โดย taweelap_b

6 มิ.ย. 2565

119 views

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้กองทัพบกดำเนินการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เพื่อใช้สู้คดีในศาลปกครองจนนำไปสู่การดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. เป็นเงิน 7,570,000 บาทนั้น


นายประยุทธ กล่าวชี้แจงว่า ในวันที่ 13 ม.ค. 60 กองทัพบกส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด พิจารณาฟ้องบริษัทเอกชนสืบเนื่องจากสัญญาซื้อขายเครื่อง GT 200 มูลค่า 683.9 ล้านบาท จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคดีปกครอง มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้ดำเนินการ เมื่ออัยการพิจารณาเรื่องแล้ว เห็นว่าการตรวจคุณสมบัติของเครื่องดังกล่าวว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ จึงมีหนังสือลงวันที่ 20 ม.ค. 60 แจ้งให้กองทัพบกช่วยตรวจคุณสมบัติของเครื่อง GT 200 ทั้งหมด เพื่อมาประกอบคดีในชั้นศาลปกครอง


ในระหว่างที่กองทัพบกดำเนินการดังกล่าว วันที่ 27 เม.ย. 60 อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากคดีใกล้จะหมดอายุความ จนวันที่ 28 ธ.ค. 60 ศาลปกครองกลางสั่งไม่รับคำฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีโดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ อัยการจึงอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย จนวันที่ 1 มิ.ย. 61 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณาคดี จึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตั้งแต่นั้นมา


ต่อมาวันที่ 1 ก.ย. 64 ศาลปกครองกลางเห็นว่า มีการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว จึงมีคำพิพากษาว่าเครื่อง GT 200 ทั้งหมด เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพและไม่มีคุณลักษณะเฉพาะ ตามสัญญาจึงพิพากษาให้บริษัทเอกชน ชำระเงินให้กับกองทัพบกตามที่อัยการฟ้องเป็นเงิน 683,441,561.41 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชน


จากนั้นวันที่ 8 ก.ย. 64 สำนักงานอัยการสูงสุด จึงแจ้งผลคดีไปยังกองทัพบก วันที่ 23 ก.ย. 64 จำเลยทุกคนได้ยื่นอุทธรณ์ และ 8 มี.ค. 65 อัยการก็ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับบริษัทเอกชนด้วย ปรากฏว่าวันที่ 7 ก.พ. 65 บริษัทเอกชน ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และวันที่ 7 มี.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้ เท่ากับว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้ว โดยจบลงที่คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง


ดังนั้น จนถึงปัจจุบัน คดีหลักได้ถึงที่สุดไปแล้ว สิ่งที่อัยการขอให้กองทัพบกตรวจสอบคุณภาพของเครื่องเพื่อประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ปี 60 จึงไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะศาลตัดสินแล้วและให้จำเลยชำระค่าเสียหายไปแล้ว ส่วนประเด็นที่ยังค้างอยู่ในศาล คือ ประเด็นที่อัยการยื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับบริษัทเอกชนด้วย กับเรื่องยอดชำระของจำเลยที่ 3 และ 4 คือ ธนาคาร ซึ่งประเด็นที่เหลืออยู่นี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานหรือพิสูจน์คุณภาพของเครื่องอีกแล้ว เพราะศาลอนุมัติในคำพิพากษาไปแล้วว่าคุณสมบัติของเครื่องไม่เป็นไปตามสัญญา

คุณอาจสนใจ

Related News