สังคม

“ชัชชาติ” ตรวจการจราจรอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ ฉะ โครงการ กทม. 14 จุด ไม่เสร็จสักจุด

โดย onjira_n

24 พ.ค. 2565

1.9K views

24 พ.ค.2565 เวลา 14.40 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่ดูการก่อสร้างอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ และสำรวจสภาพการจราจร 

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ลงดูปัญหาน้ำท่วม ที่คลองลาดพร้าวเมื่อวานนี้แล้วปัญหาต่อไปก็คือปัญหาการจราจร ในวันนี้จึงลงพื้นที่บริเวณแยกรัชดา -ท่าพระ ซึ่งมองว่าเขตธนบุรีเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหนักสุด ซึ่งจุดนี้เป็นอุโมงค์ ซ่อมถนนและลอกท่อประปา รวมไปถึงนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่ผ่านมามีการขยายสัญญามาโดยตลอด ซึ่งมีความล่าช้ามากว่า 600 วันแล้ว และงานตอนนี้ยังไม่คืบหน้า ทำให้การจราจรติดขัดยาวนาน วันนี้จึงได้พาว่าที่ส.ก.เขตธนบุรี นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล พรรคเพื่อไทย และเขตบางกอกใหญ่ นายวิรัช คงคาเขตร พรรคประชาธิปัตย์ ที่รู้ปัญหาในพื้นที่ ปัจจุบัน กทม.มีโครงการต่อก่อสร้างหลักๆ 14 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีความล่าช้ามากกว่า 100 วัน บางโครงการก็สิ้นสุดสัญญาไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถคืนพื้นผิวจราจรได้ ซึ่งตนรู้สึกตกใจมาก แต่ต้องไปดูรายละเอียดว่าเพราะเหตุใดถึงล่าช้า



นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องจราจรเนื่องจากมีการสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ซึ่งกทม.ต้องเร่งรัดในการจัดการจราจร ที่สำคัญการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง มีการปิดพื้นผิวการจราจรที่ยังขรุขระ



ส่วนจะเร่งรัดการทำโครงการได้มากแค่ไหนในวาระ 4 ปี ตนขอไปดูข้อมูลก่อน ดูรายละเอียดสัญญา เพราะมองว่าการล่าช้าเช่นนี้ต้องมีอะไรผิดปกติ และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมองว่าการต่อสัญญาต้องคิดมาดีแล้ว ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าใครทุจริต แต่อีกด้านก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน



เมื่อถามถึงกรณี การต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากครม.ยังรอความเห็นจากผู้ว่ากทม.คนใหม่ก่อนนั้น จะเป็นเผือกร้อนหรือไม่ นายชัชชาติ ระบุว่า คงไม่ เพราะทุกอย่างไม่ได้ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุว่า โดยจะต้องไปดูในรายละเอียด 3 เรื่อง คือ เรื่องหนี้ เรื่องสัญญาเดินรถ และเรื่องการต่อสัญญา 40 ปี โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งคงต้องถามกลับไปว่าทำไมถึงต้องต่อสัญญาสัมปทานถึง40ปี โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะ พ.ร.บ.ร่วมทุน มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่มีคนนอกหน่วยงานมาดูแลไม่ใช่แค่คณะกรรมการชุดเล็กๆที่ตั้งขึ้นมา และมีการแข่งขันราคากัน ซึ่งหากมีการแข่งขันราคาก็จะได้เห็นราคาที่เป็นธรรมขึ้น และไม่ได้ที่อคติว่าผิดหรือถูก แต่เชื่อมั่นในระบบที่มี พ.ร.บ.ร่วมทุน ถ้าหากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน คือไม่เชื่อในระบบหรือไม่ และกรณีหนี้สินค่าก่อสร้างที่รัฐบาลโอนมาให้ กทม. กว่า 6 หมื่นล้าน ผ่านขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ และสภากทม.รับรองมีมติหรือยัง ซึ่งหากมีมติรับถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องว่าไปตามหลักการ รวมถึงสัญญาจ้างการเดินรถ ถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ เพราะเป็นสัญญาจ้างระยะยาว



ทั้งนี้ กทม.คงไม่ได้ไปพูดคุยกับรัฐบาลโดยตรง แต่จะส่งเป็นหนังสือชี้แจงถึงความเห็นเข้าไปเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็กทม.เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจของรัฐบาล และมองว่าควรคิดให้รอบคอบก่อนเพราะถ้าผ่านครม.แล้วคงแก้ไขยาก เพราะครม.เองยังมีการเห็นแย้ง ดังนั้นคงไม่ผิดที่จะขอดูให้ละเอียดก่อน เป็นเรื่องเหตุผล ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ และส่วนตัวยืนยันในหลักการ ว่า หากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน เท่ากับไม่ตรงตามหลักการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะผ่าน ม.44



ส่วนจะมีการใช้บัตรใบเดียวในการเชื่อมต่อการเดินทางหรือไม่ นายชัชชาติระบุว่า บัตรใบเดียวสามารถเข้าทุกระบบได้ ก็สามารถเป็นไปได้ แต่ที่กังวลคือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ที่มีความซ้ำซ้อน เพราะบัตรใบเดียวอาจจะจ่ายแพงเนื่องจากมีค่าแรกเข้า



ทั้งนี้มองว่า กทม.กับบีทีเอส ควรจะต้องหารือกันเองก่อน หากมีส่วนต่อขยายเข้ามาพื้นที่สัมปทานบีทีเอสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีค่าแรกเข้า และหากมีโอกาสหารทอกับ รฟม.ก็ควรจะหารือถึงราคาค่าแรกเข้าด้วย



และนายชัชชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม. ทวงถามสัญญาที่ให้ไว้ มีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยยืนยันว่า ตนไม่ลืม และมีการต่อสายพูดคุยกับนางสาวรสนาแล้ว และก็จะดำเนิน เชื่อว่าจะไม่ขัดผลประโยชน์กับภาคธุรกิจในประเด็นนี้



คุณอาจสนใจ

Related News