สังคม

โควิดยังไม่จบ! โผล่อีก 'ฝีดาษลิง' ไม่แน่เราอาจต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกรอบ

โดย thichaphat_d

20 พ.ค. 2565

580 views

สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกของปีนี้ เพิ่งเดินทางกลับจากแคนาดา ซีดีซีเร่งสอบสวนโรค ขณะที่ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ในสหราชอาณาจักร โปรตุเกส และสเปน


ผู้ติดเชื้อรายนี้ เป็นชายซึ่งเพิ่งเดินทางไปประเทศแคนาดาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังสอบสวนโรคว่าการติดเชื้อฝีดาษลิง ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากเกี่ยวข้องกับการระบาดของฝีดาษลิงในยุโรปหรือไม่ และขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มากนักในสหราชอาณาจักร โปรตุเกส ขณะที่สเปนกำลังรอผลตรวจยืนยัน 8 ราย


ทางด้านนางเจนนิเฟอร์ แมคควิสตัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (ซีดีซี) ในสหรัฐ ระบุว่า ทางซีดีซีกำลังประสานติดต่อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสหราชอาณาจักรและแคนาดา เพื่อสอบสวนโรค แต่ในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการติดเชื้อฝีดาษลิงของชายในรัฐแมสซาชูเซตส์เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร


โดยขณะนี้ แม้ว่ายังพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในสหรัฐฯ เพียงรายเดียว แต่ซีดีซีกำลังเฝ้าระวัง และกำลังเตรียมพร้อมถึงความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงมากกว่านี้ โดยชายที่ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกไม่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปสู่สาธารณะ โดยขณะนี้เขาอยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลและอาการไม่รุนแรง


ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิง พบมากในพื้นที่ตะวันตกและตอนกลางของทวีปแอฟริกา เป็นโรคติดต่อที่พบได้ยากและมีความคล้ายคลึงกับฝีดาษคน (smallpox) พบเป็นครั้งแรกที่ประเทศคองโก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 10 ปีหลัง โดยอัตราการตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10


การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณร้อยละ 85 ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ


โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ไอ หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ ทั้งยังสามารถติดเชื้อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น 


ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการป่วยคือ มีไข้, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ต่อมน้ำเหลืองบวม, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหลัง และอ่อนเพลีย ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ระยะเวลาการฟักเชื้อประมาณ 5-14 วัน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้

-------------

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เผยถึง โรคฝีดาษลิง ในเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ว่า 


"Monkeypox virus ที่เป็นข่าวพบในหลายประเทศในยุโรป และ ล่าสุดอีก 13 เคสในแคนาดา โดยที่แต่ละเคสไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นไปได้ว่าไวรัสมีการแพร่กระจายในประชากรมนุษย์มาได้สักพักแล้ว และ ตอนนี้น่าจะไปอยู่ในหลายพื้นที่ จำนวนเคสคงจะมีรายงานมากขึ้น


ไวรัสชนิดนี้จริงๆมี 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรง ตัวที่พบกระจายอยู่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตประมาณโควิด-19 ส่วนตัวที่รุนแรงมากยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกาซึ่งความรุนแรงจะสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก โดยข้อมูลทางไวรัสวิทยา Monkeypox virus เป็น ตระกูลเดียวกับไวรัส smallpox ที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ในอดีต


ปัจจุบันไม่พบไวรัสตัวนี้ในธรรมชาติแล้ว แต่ตัวเชื้อยังมีเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจาก smallpox เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ไว แพร่ทางอากาศได้ ทำให้มีคนอนุมานต่อว่า Monkeypox จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปอันนี้เป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีหลักฐานจริงยืนยัน


Monkeypox มีมาตั้งแต่ช่วง 1950 พบติดเชื้อในคนได้ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะ ช่วงนั้นมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษกัน ข้อมูลจากประเทศไนจีเรียพบว่ามีการระบาดของ Monkeypox ในปี 2017 ในประชากรมนุษย์ประมาณ 70 คน หลังจากที่ไม่เคยพบการติดเชื้อในประเทศมาหลายสิบปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในประชากรที่ฉีดวัคซีน หรือ ปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษในช่วงหลายสิบปีก่อน


โดยภูมิจากวัคซีนดังกล่าวป้องกัน Monkeypox ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากวัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีการฉีดกันมานาน และภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ก็ตกลง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ Monkeypox สามารถกระโดดเข้ามาในประชากรมนุษย์ได้อีก...ข้อมูลตอนนี้ยังไม่มาก เชื่อว่าไวรัสคงออกมาแล้วและไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้างครับ ไม่แน่เราอาจจะต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบ"


"Monkeypox พบครั้งแรกในลิงในห้อง Lab แต่สัตว์ตัวกลางในธรรมชาติคือ หนู ...จริงๆควรเรียกว่า Rodentpox มากกว่า เพราะลิงไม่ได้เป็นพาหะ"



คุณอาจสนใจ

Related News