สังคม

ไขปมสาวฉีดวัคซีน เกิดแผลพุพอง ยันเจ้าตัวเข้าร่วมวิจัยวัคซีนจอห์นสัน ได้ค่าเดินทาง ไม่ใช่รับจ้างฉีด

โดย thichaphat_d

18 พ.ค. 2565

82 views

กรณีนางเพ็ญนภา สุขอินทร์ อายุ 35 ปี แม่ค้าส้มตำ ชาวกาญจนบุรี เข้าทดสอบรับการฉีดวัคซีนยี่ห้อหนึ่งฟรี พร้อมรับเงิน 1,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพหลังฉีด รวม 7,000 บาทต่อคน เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 โดยหลังจากฉีดได้ 3 เดือน เริ่มมีผื่นและตุ่มใสๆ ขึ้นตามตัว คิดว่าอาจจะเกิดจากการแพ้เหงื่อ หาซื้อยามากินเอง แต่ปรากฏว่าเป็นแผลทั่วตัว มีตุ่มหนอง จึงมั่นใจว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนโควิดดังกล่าว


ความคืบหน้า เมื่อวานนี้ (17 พ.ค. 65) นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รับตัวหญิงสาวรายดังกล่าว เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี แล้ว


อย่างไรก็ตาม กรณีนี้น่าจะมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ซักถามข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนยี่ห้อจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้วมีอาการผื่น ถุงน้ำตามตัว และเดิมผู้ป่วยเคยเป็นโรคผิวหนัง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่รักษาอยู่ที่ รพ.พหลฯ อยู่แล้ว


“พอเข้าร่วมโครงการวิจัยก็ให้ค่าชดเชยการเดินทาง ไม่ใช่ค่าจ้างในการฉีดวัคซีน มีการทำสัญญากับผู้ทำโครงการเข้าร่วมการวิจัย ซึ่งทางโครงการทำประกันกรณีมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ดังนั้น ผู้ทำโครงการต้องเข้ามาดูตรงนี้ด้วย ในข่าวยังมีความคลาดเคลื่อนเรื่องจำนวนการฉีดด้วย จากที่ผมได้รับข้อมูลคือฉีดวัคซีน 1 เข็ม ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เป็นการเจาะเลือดตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกัน ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร” นพ.ชาติชาย กล่าว


นพ.ชาติชาย กล่าวต่อว่า สำหรับโรคผิวหนังเรื้อรัง ภูมิแพ้เรื้อรัง ขณะนี้อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเกิดจากการแพ้วัคซีน อาจจะเป็นเพราะโรคเดิมกำเริบได้ เมื่อได้รับสารกระตุ้นโรคก็กำเริบ หรืออาจจะเกิดจากการแพ้วัคซีนจริงๆ ก็ได้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาว่า เป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่ ขณะนี้ก็ดูแลคนไข้ให้มีความปลอดภัยก่อน


ล่าสุด อาการโดยทั่วไป อยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผื่นลดลง ทั้งนี้ หากเป็นเพราะโรคผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ตัวเองหรืออื่นๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา ต้องกินยาต่อเนื่อง รักษาไม่หายขาด แต่หากเป็นการแพ้วัคซีนจริงๆ หยุดฉีดวัคซีน ให้ยาแก้แพ้ ก็สามารถรักษาหายได้ แต่ข่าวที่ออกไปลักษณะการจ้างฉีดวัคซีนนั้น ไม่มีเด็ดขาด


ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดที่ทำวิจัยฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นพ.ชาติชาย กล่าวว่า เรื่องนี้คณะวิจัยเป็นคนทำ


เมื่อถามต่อว่า เป็นทางบริษัทเอกชนดำเนินการ หรือเป็นโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหรือไม่ นพ.ชาติชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องตรวจสอบข้อมูลต่อไป


เมื่อถามย้ำว่า วัคซีนที่ระบุว่าทำวิจัยนี้เป็นตัวเดียวกับที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ หรือวัคซีนรุ่นใหม่ นพ.สสจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน


ด้านนายแพทย์รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าผู้ป่วยเป็นหนึ่งในอาสาสมัครโครงการวิจัย เพื่อประเมินผลความปลอดภัย ปฏิกิริยาตอบสนอง และผลการสร้างภูมิคุ้มกัน ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ชนิดเชื้ออะดีโนไวรัส26 ( Ad26CoVS ) โดยการฉีดกระตุ้น หลังจากได้รับวัคซีนโควิด19 ชนิดเชื้อตาย มาแล้ว 1-2 เข็ม


ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ผ่านกระบวนการระเบียบวิธีวิจัย รวมถึงการผ่านการรับรองจริยธรรมวิจัยโดยคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมวิจัยในคน และคณะกรรมการวิจัยประจำสถาบันเรียบร้อยแล้ว โดยมีอาสาสมัครในโครงการวิจัยมากกว่า 300 คน


โดยการศึกษานี้ เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วัคซีนคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โดยมี แจนเซ่น เอเชีย แปซิฟิก ประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ให้ทุนวิจัย และสนับสนุนวัคซีนวิจัย


ส่วนอาการที่หญิงรายดังกล่าว เกิดมีแผลพุพองและผิวหนังหลุดลอกนั้น จากการตรวจสอบยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นผลข้างเคียงมาจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ เนื่องจากในอาสาสมัครที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจำนวนกว่า 300 คนนั้น มีหญิงรายดังกล่าวเพียงรายเดียวที่มีอาการผิดปกติในลักษณะดังกล่าว


เมื่อแพทย์ทำการตรวจสอบบาดแผลพุพองและผิวหนังที่หลุดลอกนั้น พบว่าเป็นการหลุดลอกที่ผิวหนังชั้นที่1 อันมีสาเหตุมาจากการที่มีเซลล์ไปกระตุ้นอาการภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น ซึ่งอาการชนิดนี้มักจะพบในผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง


อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในความดูแลของแพทย์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษานั้น ทางโครงการวิจัย มีการตกลงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับอาสาสมัครที่เกิดอาการป่วย หรือมีอาการผิดปกติรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว


ด้านนางสาวพลอย ธนิกุล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือและประสานนำตัวหญิงรายดังกล่ายวมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูล ของอาสาสมัครที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มดังกล่าวจำนวนกว่า 300 คน ซึ่งมีผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในพื้นที่อำเภอท่ามะกา พร้อมกับหญิงรายดังกล่าวเป็นจำนวนมากนั้น


จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีรายใดที่มีอาการผิดปกติหลังการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ไปรับการฉีดวัคซีนพร้อมกับหญิงรายดังกล่าวแล้วเกิดมีอาการผิดปกติสามารถติดต่อมาที่ตนเองหรือทีมงานผ่านทาง facebook พลอย ธนิกุล ได้ทันที 


ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เปิดเผยกรณีโครงการวิจัยวัคซีนโควิดในประเทศไทยหรือในคนไทย ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ร่วมกับรพ.ธรรมศาสตร์ และรพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ที่ใช้วัคซีนโควิดจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชน ยืนยันว่า ทางบริษัทได้มายื่นขอขึ้นทะเบียน และได้รับอนุมัติทะเบียนจาก อย. เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 แบบอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉินและต่ออายุวัคซีนแล้ว จึงสามารถทดสอบได้ตามโปรโตคอล


ทั้งนี้ เมื่อ อย.อนุญาตขึ้นทะเบียนแล้ว ก็สามารถนำมาศึกษาวิจัยได้ โดยผ่านคณะกรรมการจริยธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากการตรวจสอบพบว่า ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิกและรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน ได้ทำโครงการนี้เมื่อเดือน มกราคม ที่ผ่านมา


เลขาธิการ อย.ย้ำว่า อย.จะดูเฉพาะตัวผลิตภัณฑ์ คือ วัคซีน ว่าหากผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ กิอนญาตให้นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้ ส่วนจะนำเข้ามาทำอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับขอบเขตการขออนุญาตของผู้นำเข้า ส่วนตัวโครงร่างการวิจัย หรือที่เรียกว่าโปรโตคอล ว่าจะต้องมีอาสาสมัครเท่าไหร่ มาทำไรบ้าง หรือจุดประสงค์เพื่ออะไร เป็นเรื่องของคณะกรรมการจริยธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับ อย. แต่อย่างใด



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/91Ohq2ZucII

คุณอาจสนใจ