สังคม

'หมอนิธิพัฒน์' ชี้โควิดก่อนสงกรานต์ไม่น่าหนักใจ ยกผลวิจัย 17 สมุนไพรของเบลเยี่ยม เสริมการป้องกัน-รักษาโควิด

โดย weerawit_c

14 เม.ย. 2565

500 views

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า หากไม่มีการพยายามตกแต่งตัวเลขด้วยการตรวจให้น้อยลงหรือทยอยรายงานแต่ละวันตามที่ต้องการ เป็นวันที่สองแล้วที่ภาพรวมสถานการณ์โควิดก่อนสงกรานต์ไม่น่าหนักใจ และอาจจะกำลังดีขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจลดลงมาติดต่อกันเป็นวันที่สองด้วย ส่วนผู้เสียชีวิตน่าจะคงคาอยู่ที่หลักร้อยไปอีก 5-7 วัน นี่ทำให้ต้นทุนตกค้างของภาคการแพทย์ผ่อนคลาย พอให้หายใจคล่องคอหน่อยในช่วงที่อากาศกำลังร้อนได้ที่ อย่างนี้ต้องใช้ประโยคฮิต "มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้" ก่อนเข้าสู่ระยะวัดใจจนถึงสิ้นเดือนนี้ว่าจะออกทางหมู่หรือจ่า


เนื่องในโอกาสที่ก้าวเข้าสู่วันปีใหม่ไทยประจำปี พ.ศ. 2565 ขออธิษฐานให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง ผ่านพ้นช่วงแห่งการระบาดของสิ่งอุบัติใหม่ “โรคโควิด-19” ไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งขอเผื่อแผ่ไปให้มวลมนุษยชาติร่วมพิภพด้วย ในโอกาสนี้ขอนำเรื่อง “สมุนไพรกับโควิด” มานำเสนอเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ


คณะนักวิจัยจากประเทศเบลเยี่ยม ได้นำสารสกัดสมุนไพรธรรมชาติ 17 ชนิด ไปทดสอบกับเชื้อซาร์โควี-2 ในห้องทดลอง เพื่อดูผลในการต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส มีที่น่าสนใจและเป็นความหวังได้อยู่ 3 ชนิดด้วยกัน เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/ptr.7463


ขมิ้นชัน (กรอบสีแดงในรูป ตัวเลขช่องหลังยิ่งน้อยยิ่งดี) นอกจากมีฤทธิ์ขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยขับไล่โควิดได้ด้วย แต่คงต้องใช้กินไม่สามารถเอาไปใช้แขวนกันไว้หน้าบ้าน เหมือนแขวนกระเทียมกันแดร็คคูล่า


ชา (กรอบสีน้ำเงินในรูป) สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ช่วยให้หายเหนื่อย ไม่ง่วง ฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้กระหาย สมานแผล บำรุงหัวใจ แก้หืด รูปแบบการจิบน้ำชาน่าจะเวิร์คสุด ทางอ้อมอาจทำให้อารมณ์เย็นลง ชินชากับการระบาดของโรคได้



ยูคาลิปคัส (กรอบสีม่วงในรูป) หรือชื่อไทยคือ โกฐจุฬารส น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสดใช้ผสมน้ำกินหรือทำเป็นยาอม มีสรรพคุณ แก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการข้ออักเสบ หากใช้น้ำมันยูคาลิปตัสทาจมูก ถ้าไม่ได้กลิ่นที่เคยได้ อาจเป็นนัยยะช่วยบอกว่าสงสัยติดโควิดแล้ว


ที่มีการต่อยอดไปใช้สำหรับโควิดคือ สารสกัดจากขมิ้นชันผสมกับเควอซิทีน (quercetin) ที่เป็นสารจำพวกฟลาโวนอยด์ (flavonoids) พบได้ในหัวหอม แปะก๊วย (กรอบสีเขียวในรูป มีฤทธิ์ปานกลางจึงไม่ได้กล่าวถึงในตอนแรก) และ ชาเขียว เป็นต้น


ใครสนใจ หาเก็บตุนไว้ แล้วไปปรุงเป็นสูตรของตัวเองได้ตามใจชอบ เพื่อช่วยเสริมการป้องกันและรักษาโควิด-19 ในยุคก่อนเป็นโรคประจำถิ่น ไม่คิดค่าโฆษณา""

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/xydnBaB477A

คุณอาจสนใจ

Related News