สังคม

อุตุฯแจงเหตุ ลมหนาวเดือนเมษา ชี้เคยเกิดแล้วเมื่อปี 59 ยัน 'Polar Vortex' เกิดยากในไทย

โดย thichaphat_d

4 เม.ย. 2565

82 views

วานนี้ (3 เม.ย. 65) วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์รูปภาพ พร้อมข้อความที่ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้มีอากาศหนาวในช่วงเดือนเมษายน  โดยระบุ ดังนี้

"อากาศที่เย็นลงในไทยแบบวูบวาบนี้

สิ่งที่ต้องเร่งดูแล นอกจากคนให้มีที่นอนที่อบอุ่นเพียงพอแล้ว

สัตว์เองก็จะประสบปัญหาความหนาวเย็นที่เค้าอาจปรับตัวไม่ทันเช่นกัน

นี่คือผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุด หรือบางจุดมาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้กระแสลมที่เคยพัดวนทวนเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ปกติหมุนพัดที่ความสูง 10กิโลเมตรจากพื้นดินรอบเขตขั้วโลกมานับล้านปีเกิดสะดุด

กำแพงลมนี้เป็นเสมือนปราการธรรมชาติที่เคยขังไอเย็นไว้ในขั้วโลก

บัดนี้เริ่มมีจุดที่มันยืดย้วยออกเป็นห้วงๆ เพราะไออุ่นจากมหาสมุทรและแผ่นดินทวีปบางย่านที่มากขึ้นลอย ไปกระทบกำแพงลม

ทำให้ลมหมุนถูกเบี่ยงเบน อ้อมออกจากเส้นทางเดิมๆ

ทีนี้ไอเย็นก็ขยายออกตามลงมา แล้วแต่ว่ารอยยืดนั้นไปเกิดในจุดไหน

พอจุดนั้นยืดย้วย ก็จะดันเอาอากาศชุดที่ติดกับมันให้ดันกันต่อไปสู่เขตอื่น แม้แต่เขตอากาศของเส้นศูนย์สูตร

ความเยือกเย็นจึงถูกดันมาเป็นทอดๆ

ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า Polar Vortex

แม้จะย้วยมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ชี้ให้เราตระหนักว่า โลกใบนี้เล็กกว่าที่เราเคยรู้จัก

สิ่งที่เกิดกับภาวะโลกร้อน ที่ขั้วโลกเหนือ สะเทือนมาถึงเส้นศูนย์สูตรได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน

ในทางกลับกัน กำแพงลมเย็นที่ถูกไออุ่นเบียดให้แคบลงก็แปลว่าจะมีไอร้อนเบียดเข้าหาขั้วโลกเช่นกัน

ปีนี้เราคงได้เห็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลตามมา"


ในเวลาต่อมา กรมอุตุฯ ได้ออกเอกสารชี้แจง กรณีเกิดข่าวลือสาเหตที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวน หนาวเย็น-ฝนตก หรืออากาศหนาวเย็น ช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน 2565 เป็นผลพวงจากปรากฏการณ์ Polar Vortex ทำให้เย็นวูบวาบ กระแสลมโลกเบี่ยงทิศ ผลพวงปัญหาโลกร้อนที่ต้องเร่งแก้ไข


ว่าตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพและข้อความถึงกรณีข้างต้นนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาขอเรียนชี้แจงว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย.นี้ เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุฯประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน 2 มี.ค.) ซึ่งโดยทั่วไป อุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อน ถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง


ส่วนความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าว แผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ


หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรกๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น วันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น


ส่วนปรากฏการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึงดังกล่าว มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเมืองเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรค คือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก


ดังนั้น อุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้ จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/rO5S4DwkH3I

คุณอาจสนใจ

Related News