สังคม

ยอดตายโควิดในฮ่องกง 'ทำลายสถิติโลก' ศูนย์จีโนมฯ ชี้อาจมีสาเหตุจากโอมิครอน BA 2.2

โดย thichaphat_d

14 มี.ค. 2565

78 views

ขณะที่ประเทศไทย กำลังนับถอยหลังอีก 108 วัน จะปรับโรคโควิดให้เป็น 'โรคประจำถิ่น' ซึ่ง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA 2.2 ว่า ขณะนี้มีการสุ่มตรวจที่ฮ่องกง และอังกฤษ 


พบว่า BA 2.2 มีส่วนทำให้อัตราการเสียชีวิตในฮ่องกง พุ่งขึ้นทำลายสถิติโลก โดยมีอัตรการเสียชีวิตอยู่ที่ 30 คนต่อหนึ่งล้านคน ในรอบ 7 วัน ซึ่งประเทศไทยหนึ่งล้านคน มีคนตายเพียง 0.7 คน ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยที่ว่า BA 2.2 จะมีความสามารถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เช่น ด้อยค่าวัคซีน สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิมหรือไม่ หรือยารักษาโอมิครอนแบบเดิม จะรักษา BA 2.2 ได้ไหม


โดยทางเพจ Center for Medical Genomics ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความ ดังนี้ 

"โอมิครอน “BA.2.2”  (B.1.1.529.2.2)  จาก "ฮ่องกง"ที่อาจเป็นภัยร้ายในอนาคต


ปรับปรุง  12/3/2565 เวลา 17.30

การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสายพันธุ์ใหม่  "BA.2.2"  หรือ  B.1.1.529.2.2   ที่มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ "S:I1221T"   และการกลายพันธุ์ตรงยีน "ORf1a: T4087I" (ภาพ 1-2) โดยมีการซับมิทรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 ที่สุ่มตรวจได้ที่ฮ่องกงขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" ประมาณ 386 ตัวอย่าง และสุ่มพบการแพร่ระบาดในอังกฤษประมาณ  236  ตัวอย่างเช่นกัน (ภาพ3)


ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย (จากการสุ่มตรวจจากตัวอย่างที่ RTPCR เป็นผลบวกต่อไวรัสโคโรนา 2019 ในอัตราร้อยละ 0.1  หรือตรวจในสัดส่วน 1 ใน 1,000) แต่จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในอาเซียนพบในสิงคโปร์พบ 11  ราย อินโดนีเซีย 4 ราย  บรูไน 2 ราย  และ กัมพูชา 1 ราย (ภาพ 3)


แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว  คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC)  รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) โดยใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล (ภาพที่ 4)


การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน (ภาพ 4) ดังนั้นท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนควรรีบไปฉีด  


ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเที่ยบกับอันดับสองประเทศลัตเวียจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคยงกันคือ 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมากคือโดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7  และ 0.7  ตามลำดับ (ภาพ 4) กล่าวคือที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการะบาดของสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ ฺBA.2.2 ทำให้มีแนวโนมว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นจนทำสถิติสูงที่สุดในโลก


ล่าสุดจากการคำนวณพบว่า BA.2.2 มีการระบาดเพิ่มขึ้นกว่าทุกสายพันธุ์ประมาณ 35% (ภาพ5)และพบว่าในอังกฤษมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวใน รพ. เพิ่มขึ้นสอดคล้องไปกับการแพร่ระบาดของ BA.2.2 (ภาพ6)


ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ


1. BA.2.2 มีกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส

ในเบื้องต้นทราบแล้วว่า BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป 2 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ "S:I1221T" และ "ORf1a: T4087I" (ภาพ 1)


2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่


3.  BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่


4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่


5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ  


6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก (ภาพที่ 7)


ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามผู้ป่วย BA 2.2 ในฮ่องกงพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนการเพิ่มจำนวนขึ้นของ BA 2.2 ในสหราชอาณาจักรอาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ BA.2.2 ได้" 

คุณอาจสนใจ

Related News