สังคม

นำร่องฉีด 'ซิโนฟาร์ม' นักเรียน 10-18 ปี วันแรก ยันวัคซีนเชื้อตายปลอดภัยต่อเด็ก

โดย thichaphat_d

21 ก.ย. 2564

174 views

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำร่องฉีดวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ให้นักเรียนอายุ 10-18 ปี กว่า 1 แสนคนใน กทม. และปริมณฑล เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม พ.ย.นี้ หวังให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ยืนยันวัคซีนซิโนฟาร์ม ปลอดภัยสำหรับเด็ก


เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการ VACC 2 School ครั้งที่ 2 เพื่อนำร่องฉีดวัคซีน Sinopharm ให้กับเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-18 ปี โดยเปิดรับสมัครผ่านสถานศึกษา ยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ให้แก่กลุ่มนักเรียนในสังกัด โดยไม่เสีย ค่าใช้จ่าย


โดยสามารถฉีดได้ที่อาคารบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน สำนักงานแจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าโรงเรียนและผู้ปกครองต่างก็นำบุตรหลานที่มีอายุระหว่าง 10 - 18 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม ตามโครงการ “VACC 2 School” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดฉีดวัคซีน Kik Off ให้กับเด็กและเยาวชน โดยมีทั้งครูและผู้ปกครองมารอให้กำลังใจเนื่องจากเป็นการฉีดเข็มแรก เด็กบางคนถึงกับร้องไห้เพราะกลัวเข็ม


ซึ่งเมื่อวานนี้เป็นการฉีดให้กับเด็กนักเรียน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสันติสุขวิทยา และโรงเรียนรุ่งอรุณ ทั้งหมด 2,000 คน จากรายชื่อที่ได้ขึ้นทะเบียนรอบ 1 และรอบ 2 จากที่คัดเลือกมา 132 โรงเรียน เพื่อเป็นการนำร่องก่อน โดยจำนวน 132 โรงเรียนนี้มีทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนกว่า 108,319 คน โดยเริ่มฉีด 20 กันยายน ถึง 15 ตุลาคม นี้ หรือจนกว่าจะครบ สำหรับนักเรียนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองด้วย


ในการฉีดวัคซีนนักเรียน ได้แสดงบัตรประชาชนและบัตรนักเรียน, แสดง QR Code, ส่งหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง หลังจากที่รับวัคซีนให้นั่งพักสังเกตอาการ 15 นาที หากไม่มีอาการกลับบ้านได้ ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนให้กลับบ้านพักผ่อนตามปกติ ไม่ควรวิ่ง หรือ ออกกำลังกายหนัก 2 - 3 วันหลังฉีดวัคซีน โดยในช่วงเช้าตั้งแต่ เวลา 08.00-12.00 ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้นักเรียนครบทั้ง 2,000 คน ที่มีคิวรับวัคซีน


ภายหลังฉีดวัคซีน ยังไม่พบมีนักเรียนคนใด ที่มีอาการข้างเคียงในระหว่างนั่งรอสังเกตอาการ จะพบเพียงบางกลุ่มที่ตื่นเต้นและกลัวเข็ม ขณะที่บางรายมีอาการอ่อนเพลีย เพราะพักผ่อนน้อย หรือไม่ได้ทานอาหารเช้ามา


สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน ลดการระบาดของโรค เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมใน การกลับมาเปิดเรียนในห้องเรียนตามปกติ ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมที่จะเปิดการศึกษาอีกครั้งในช่วงของต้นเดือนพฤศจิกายนนี้


ผู้ปกครองหลายคนสะท้อนวิธีการตัดสินใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีน ว่าต้องคิดอย่างรอบคอบ เนื่องจากหากเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หากผลข้างเคียงมากก็ย่อมส่งผลกระทบกับ บุตรหลาน จึงต้องการเลือกวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดให้กับบุตรหลาน แม้ว่าโรงเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานคร จะเริ่มเปิดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในวันนี้ (21 ก.ย.) แล้วก็ตาม


ผู้ปกครองรายหนึ่ง ต้องการอยากให้ลูกฉีดวัคซีนเชื้อตายมากกว่า เพราะที่ผ่านมาวัคซีนเชื้อตาย ก็ถูกนำฉีดให้เด็ก เช่น ไข้หวัดใหญ่ การที่นำบุตรหลานมารับวัคซีนในวานนี้ (20 ก.ย.) ระบุว่าเหตุที่เลือกให้ลูกฉีดซิโนฟาร์ม เพราะมั่นใจในความปลอดภัยในวัคชีนชนิดเชื้อตาย และควรได้รับวัคซีนก่อนเปิดเทอม อนาคตหากมีวัคซีนที่ดีกว่าค่อยมาพิจารณากันอีกที


สำหรับโครงการฉีดวัคซีน “VACC 2 School” จะไม่มีการขยายออกไปแล้ว เนื่องจากว่าทางกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ต่างเตรียมที่จะฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เตรียมกับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนนักเรียนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว หลังจากนี้ราชวิทยาลัยจะได้ประสานแพทย์ติดตามอาการข้างเคียง และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในสถานศึกษา ภายหลังจากที่นักเรียนเข้ารับวัคซีนแล้ว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะส่งข้อความผ่านมือถือติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ตามรอบวันที่ 1,7 และ 30 หลังการฉีดวัคซีน ซึ่งเข็ม 1 และ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์


ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม มีการรายงานว่าทั้งประเทศจีน ชิลี ศรีลังกา การใช้วัคซีนชนิดนี้ฉีดให้กับเด็กแล้วเยาวชน ซึ่งผลข้างเคียงอยู่ที่ 0.2% โดยส่วนใหญ่พบมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ไข้ ส่วนประสิทธิภาพมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่ารับวัคซีนครบ 2 เข็ม


ผลข้างเคียงน้อยมากเมื่อเทียบกับวัคซีน mRNA จึงเป็นเหตุผลที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำมาฉีดให้กับเด็กและเยาวชน “เด็กต้องไปโรงเรียนแต่ต้องไปเจอเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะดูประเด็นเรื่องผลของวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ การเลือกที่จะใช้วัคซีนควรที่จะเลือกใช้ผลวัคซีนที่มีผลข้างเคียงน้อย เพื่อให้เด็กกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้”


ศาสตราจารย์นายแพทย์ นิธิ ยังกล่าวอีกว่า โครงการวิจัยครั้งนี้ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเด็ก 200 คน ยื่นเป็นงานวิจัยให้กับคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดส่งเอกสารข้อมูลครบถ้วนให้กับทาง อย.ไปแล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน เพื่อรับรองขึ้นทะเบียนฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กลุ่มเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ล่าสุดได้รับคำตอบว่า อย.กำลังคิดทบทวนข้อมูล ย้ำว่าอยากจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องได้เร่งรับรองวัคซีนซิโนฟาร์มโดยเร็วเพื่อที่จะลดช่องว่างให้พื้นที่ต่างจังหวัดได้รับวัคซีนที่ปลอดภัย


โดยศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ ระบุเพิ่มเติมว่า เป็นห่วงนักเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ เนื่องจากต้องรอการ อย.อนุมัติการขึ้นทะเบียน ทำให้เป็นกังวล หากกลับมาเปิดเรียนช้าจะมีผลต่อการเรียน ซึ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด การเรียนออนไลน์ไม่ตอบสนองกับเด็กในต่างจังหวัดที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ฐานะการเงิน, อุปกรณ์การเรียน, อินเทอร์เน็ต


ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กที่ทำได้ต้องเป็นโครงการวิจัยเท่านั้น หากมีโรงเรียนแพทย์ไหนสนใจจะทำวิจัยการฉีดวัคซีนในเด็ก สามารถยื่นโครงการมายังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้


อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวทางในการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปี ภายใต้ความยินยอมของผู้ปกครอง โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และขยายไปทั่วประเทศ รวมนักเรียนกว่า 4.5 ล้านคน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Z4FeRX_H_N8

คุณอาจสนใจ