สังคม

‘ทนายรณณรงค์’ แนะผู้บริโภค ฟ้องอาญา-แพ่ง เจ้าของ “ดารุมะ” ยันคนซื้อแฟรนไชส์ต้องรับผิดชอบด้วย!

โดย pattraporn_a

18 มิ.ย. 2565

685 views

กรณีดรามาร้านแซลมอน ปิดตัวเงียบ หลังขาย Voucher ราคา 199 บาท ล่าสุดพบผู้เสียหายหลายกลุ่ม ทั้งลูกค้า พนักงาน นักลงทุน และซัพพลายเออร์


กลุ่มเฟซบุ๊ก คนรักบุฟเฟต์ Buffet Lovers ได้เปิดประเด็นดรามาเกี่ยวกับร้านบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง เพราะจู่ เพจของร้านก็ปิดตัวไป ลูกค้าบางรายจองไว้แล้ว แต่ถูกโทรยกเลิก ขณะที่บางรายไปถึงหน้าร้านพบว่าร้านปิด โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร


สำหรับร้านดังกล่าว เป็นร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น ราคา 499 บาท ซึ่งมีหลายสาขาในกรุงเทพฯ และมีลูกค้าประจำพอสมควร ต่อมาร้านจัดโปรโมชั่น Voucher ราคา 199 บาท และต้องซื้อขั้นต่ำ 5 ใบ ทำให้ลูกค้าหลายๆ คน ซื้อเก็บเอาไว้หลายๆ ใบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบข้อมูลของ Voucher ทั้งหมดที่ขายได้


แต่ล่าสุดร้านปิดช่องทอง ติดต่อผู้บริหารร้านไม่ได้ กระทั่งเมื่อวานนี้ จู่ๆ ช่องทางต่างๆ ของร้านก็ปิดไป ทั้งเว็บไซต์ และแฟนเพจ รวมถึงสาขาต่างๆ ของร้านบุฟเฟ่ต์ ทำให้เกิดกระแสดรามาขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม ต่อมาไม่นาน มีการรายงานว่าร้านปิดเพราะปรับปรุงระบบ เพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมาจำนวนมากต่อไป


แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า ร้านจะพร้อมกลับมาเปิดให้บริการ ลูกค้าหลายคนเริ่มมีการรวมตัวกัน โดยตั้งกรุ๊ปไลน์ขึ้นมาสำหรับผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกลัวว่าจะซ้ำรอยกรณีร้านซีฟู๊ดชื่อดังในอดีต


นอกจากนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุเป็นนักลงทุนของร้านซูชิชื่อดัง โพสต์ระบุว่า "ขออนุญาตชี้แจงเรื่องร้านที่ได้ซื้อแฟรนไชส์มาทั้งหมด 6 สาขา ซึ่งในขณะนี้ตัวเองและเจ้าของสาขาต่างๆ อีก 10 กว่าสาขา ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกันรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทและผู้บริหาร ขณะที่ในส่วนของพนักงานต่างไม่รู้ล่วงหน้า รู้อีกทีก็ตกงานกระทันหัน พร้อมกับให้ข้อมูลว่า "ร้านเจ๊งแล้ว เจ้านายหนีไปแล้ว"


อีกทั้งยังมีกลุ่มซัพพลายเออร์ มาโพสต์ว่าทางร้านบุฟเฟ่ต์ค้างค่าวัตถุดิบกว่า 30 ล้านบาท ทำให้ตอนนี้มีกลุ่มที่ระบุว่าตัวเองเป็นผู้เสียหายอยู่ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มลูกค้า ที่ซื้อคูปองไปแล้ว ตอนนี้ยังไม่ทราบมูลค่าความเสียหาย 2.กลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง ที่อาจจะต้องตกงาน และไม่ได้รับเงินเดือนที่ค้างจ่าย 3.กลุ่มคนซื้อแฟรนไชส์ ที่ซื้อไปแล้วยังไม่ทันคืนทุน และ 4.กลุ่มซัพพลายเออร์ เสียหายกว่า 30 ล้านบาท


ทั้งนี้ในโลกออนไลน์มีแชร์ข้อมูลว่า เจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์ดังกล่าว นอกจากปิดร้านปิดเพจหนีแล้ว ยังปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว แถมยังเด้งออกจากกรุ๊ปไลน์ผู้บริหาร มือถือส่วนตัวก็ปิดเครื่อง โทรไปไม่ติด รายงานข่าวแจ้งว่าหนีไปดูไบตั้งแต่ช่วงตี 1 ของวันศุกร์แล้ว


ขณะที่ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร เปิดเผยว่า หากผู้บริโภคซื้อคูปองอาหารแล้วไม่ได้รับประทานตามข้อตกลง หรือไม่ได้เงินคืน หากพบว่าเป็นการซื้อขายทางออนไลน์ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะมีผู้ที่ซื้อเฟรนไชน์ และ เจ้าของกิจการ ซึ่งมีความผิดทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง


โดยคดีอาญา จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท และ ยังมีความผิด ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ในฐานความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท


และสุดท้ายหากผู้ที่จำหน่ายคูปอง หรือเจ้าของกิจการ ไม่คืนเงินกับลูกค้าก็จะเป็นความผิดในคดีแพ่ง ซึ่งเจ้าของเฟรนไชน์ ผู้ที่รับซื้อเฟรนไชน์ จะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหารไม่ได้ ทั้งนี้แนะนำว่าผู้ที่ซื้อคูปอง ควรไปร้องเรียนที่ สคบ.ด้วยเพื่อให้ผู้ที่จำหน่ายคูปองคืนเงินให้


และจากกรณีร้านบุฟเฟ่ต์ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2562 ร้านซีฟู้ดแหลมเกต ก็เปิดโปรขายเวาเชอร์ Voucher เพียงหลักร้อย เสิร์ฟอาหารทะเล แต่เมื่อนำบัตรไปใช้ ปรากฏว่าบางเมนูอาจต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้านาน ทำให้หลายคนใช้ไม่ทันเวลา ต่อมามีกระแสข่าวร้านปิดถาวรทุกสาขา จนทำให้บรรดาลูกค้าที่ซื้อเวาเชอร์ไปต่างเป็นห่วง จึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความดำเนินคดี


กระทั่ง 10 มิ.ย.63 ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด , นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ พารุณจุลกะ ,น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดร่วมกันโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ,เเละ พรบ.คอมฯ


ทำให้ศาลสั่งจำคุกจำเลยที่ 2,3 คนละ 1,446 ปี ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง หากยังไม่ออกมารับผิดชอบลูกค้า ก็อาจย้อนรอยเหมือนร้านแหลมเกตที่ถูกดำเนินคดีก็เป็นได้


https://youtu.be/l1vyo_KDLUU

คุณอาจสนใจ

Related News