สังคม

กอนช. เตือน! พายุ 2 ลูก จ่อเข้าไทยต้น ต.ค. เตรียม 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยารอรับน้ำ

โดย paweena_c

22 ก.ย. 2565

4.6K views

กอนช. เตือน พายุ 2 ลูกจ่อเข้าไทยต้นเดือนตุลาคม เตรียมแผนระบายน้ำเข้า 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาแล้ว ด้าน กทม.ชงแผนคลองบายพาส ลดน้ำท่วมโซนตะวันออก เข้า กนช. 6 ตุลาคมนี้


วันนี้ (21 ก.ย. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 โดยมีวาระสำคัญคือ เรื่องเพื่อพิจารณา แนวทางการใช้พื้นที่ทุ่งรับน้ำเจ้าพระยารองรับน้ำหลาก และการระบายน้ำผ่านคลองต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีประมาณ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระบายอยู่ที่ 1,980 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม อาจมีร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก จึงทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมากขึ้น


ที่ประชุมจึงกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยกรณีที่น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะระบายน้ำออกทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของเขื่อน


และกำหนดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทรไว้ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนเมืองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ยังได้เตรียมทุ่งรับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไว้จำนวน 10 ทุ่ง รับน้ำได้ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะต้องจัดทำกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อไม่ให้พื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนเสียหาย


พร้อมมอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ประเมินสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณฝน พายุจร หาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ


สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังรองรับปริมาณน้ำได้อย่างน้อย 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมาก กอนช.ได้แจ้งเตือนกรมชลประทาน ให้ปรับเกณฑ์การระบายน้ำแล้ว


นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้คาดการณ์ว่า ต้นเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะมีพายุเข้ามา 1-2 ลูก กอนช. และ สนทช.จึงตั้งศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าที่จังหวัดอุบลราชธานี และชัยนาท เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก บางปะกง และท่าจีน) แบบวันต่อวัน


ทั้งยังบูรณาการกับเหล่าทัพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที


ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ปริมาณฝนในไทยปีนี้มีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ย 20% เป็นผลจากปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าแล้ว


นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้เสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพที่สถานีสูบน้ำพระโขนง และคลองที่ตื้นเขิน แผนการกระชับน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ลงสู่อ่าวไทย


ซึ่งได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร และกรมชลประทาน พิจารณาร่วมกันก่อนเสนอให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งน้ำ (กนช.) ในวันที่ 6 ต.ค.65 ก่อนเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ของ กนช.ในวันที่ 12 ต.ค.65


ส่วนประเด็นน้ำจากจังหวัดนครนายกไหลเข้ามายังคลองรังสิต จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมหนักนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะได้ปิดประตูน้ำไว้แล้ว น้ำท่วมรังสิตเกิดจากฝนตกหนัก ส่วนตัวลงไปตรวจสอบด้วยตนเอง และกรมชลประทานก็ยืนยันว่า ไม่ได้ปล่อยน้ำจากจังหวัดนครนายกเข้าคลองรังสิต


คุณอาจสนใจ