สังคม

จังหวัดเลย เดินหน้ารับฟังความเห็น กระเช้าขึ้นภูกระดึง

โดย attayuth_b

17 ส.ค. 2565

129 views

อพท. จับมือ จ.เลย รับฟังความเห็นทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง  เผยยังใช้ลูกหาบ แต่หาคนสืบสานอาชีพนี้ได้น้อยแล้ว   ยันไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 17 ส.ค.65  จังหวัดเลย ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินงานในการทบทวนข้อมูล ตามผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงที่ อพท. ดำเนินการในช่วงปี 2557-2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาที่ อพท. เสนอไว้แล้ว เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ในมติครั้งนั้น ได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งต่อมาในขั้นตอนการพิจารณาได้มีผลสรุปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยพิจารณามอบหมายหน่วยงานภายในจังหวัดเลยเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการฯ และนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เมื่อมีการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นควรให้มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขณะที่ศึกษา และให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ อพท. เห็นถึงความสำคัญของโครงการ และความต้องการของจังหวัดเลย จึงจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบของจังหวัดเลย ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการศึกษาทบทวนความเหมาะสม (Feasibility Study) ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ รูปแบบโครงการ พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการของรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้ อพท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพ ให้มีน้อยที่สุด กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และจะมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การลดจำนวนการค้างแรมในพื้นที่ยอดภูกระดึง ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้จัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งในระดับสากล ที่จริงกระบวนการต่างนั้นเสร็จหมดแล้วในวันนี้จะได้นำข้อคิดเห็นสู่การนำเสนอและผลการศึกษาทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องเสนอฝ่ายนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อนำสู่เข้าไปยัง ครม.เพื่อรับทราบผลการศึกษาและทบทวนโครงการฯ จากนั้น ครม.จะมีมติและมอบหมายให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำเนินการต่อไป ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าผู้ดำเนินการก่อสร้างเป็น อบจ.เลย

นายคุณาวุฒิ บุดดาดวง ประธานคณะกรรมการรณรงค์ขอกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง เปิดเผยว่า โครงการนี้ตนและคณะกรรมการกลุ่ม/สมาชิกที่ภูกระดึงเห็นด้วยมาพร้อมร่วมรณรงค์แสดงจุดยืนมาแล้วกว่า 10 ปี มาวันนี้ตนอายุ 77 ปีแล้วก็ยังเดินหน้าร่วมผลักดันโครงการฯให้เสร็จเพราะเป็นความประสงค์ของประชาชน ส่วนใหญ่แม้แต่ผู้ต่อต้านก็รับฟังเหตุ-ผล ความคุ้มค้าและผลประโยชน์ที่มีมากทางเศรษฐกิจ ส่วนลูกหาบก็ยังใช้หาบต่อไปและบุตรหลานอายุมากขึ้นเรียนจบการศึกษาปริญญาตรี-โท จำนวนมากเขาก็ไม่สืบสานอาชีพของพ่อของเขากันแล้ว ลูกหาบจึงเหลือจำนวนน้อยลงทุกวัน ตนและคณะเดินทางไปศึกษาดูกระเช้าที่ต่างประเทศก็ไม่เห็นไปทำลายสิ่งแวดล้อมอะไรและการที่จะมีทัวร์มาระเบิดลงบนยอดภูนั้นก็ตัดไปเลยคงไม่มีตามที่เป็นห่วงกัน เชื่อว่าสามารภกำกับบริหารจัดการได้อย่างดีแน่นอนไม่ต้องกังวลและวิตก

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ภูกระดึง ,กระเช้าภูกระดึง

คุณอาจสนใจ

Related News