สังคม

ครบจบที่นี่! มาตรการเยียวยาล็อกดาวน์ 13 จังหวัด จ่าย ม.33, ม.39, ม.40 และลดภาระค่าเทอม

โดย kodchaporn_j

29 ก.ค. 2564

6.4K views

ครม.เคาะวันจ่ายเงินเยียวยาแรงงานและนายจ้าง ใน 13 จังหวัดล็อกดาวน์ วันที่ 6 สิงหาคมนี้


โดยไทม์ไลน์การจ่ายเงินเยียวยา จะจ่ายให้กับแรงงานและนายจ้างในมาตรา 33 ใน 10 จังหวัดล็อคดาวน์ก่อน ซึ่ง ครม.เห็นชอบขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยาแล้ว และพร้อมโอนเงินในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ส่วนอีก 3 จังหวัดเพิ่มเติม คาดเยียวยา 13 สิงหาคมนี้ ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน





ส่วนแรงงานในมาตรา 39 และมาตรา 40 กระทรวงแรงงาน ระบุว่า อย่างเร็วที่สุด จะจ่ายได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากต้องรอตัวเลขผู้ลงทะเบียนใหม่ ที่เปิดให้ลงได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้





ที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบให้ขยายขอบเขตการบรรเทาผลกระทบให้ครอบคลุมพื้นที่ เพิ่มอีก 3 จังหวัดล้อคดาวน์ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมทั้งนายจ้าง แรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคม


โดยจะให้ความช่วยเหลือเหมือนกับ 10 จังหวัด ใน 9 กลุ่มอาชีพ ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยไทม์ไลน์การจ่ายเงินเยียวยาใน 3 จังหวัดนี้ ซึ่งครอบคลุมแรงงานกว่า 1 ล้านคน 


นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท สำหรับเยียวยากลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการตามาตราบรรเทาผลกระทบโควิด-10 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด 9 กลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งในส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 นอกจากได้รับชดเชยเหตุสุดวิสัย 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย จะได้รับการเยียวยา จากรัฐบาลเพิ่มเติมอีกคนละ 2,500 บาท โดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่เป็นเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น


ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ตามจำนวนลูกจ้างหัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดาจะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน นายจ้างสถานะบุคคลจะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง โดยจะได้รับเงินภายในวันที่ 6 สิงหาคมนี้




จากนั้นหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มอีก 3 จังหวัดก็จะเร่งดำเนินการให้จ่ายเงินได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีนายจ้างได้รับการเยียวยาประมาณ 160,000 ราย วงเงิน 6.4 พันล้านบาท ลูกจ้างกว่า 2.8 ล้านราย วงเงิน 7.1 พันล้านบาท


ทางด้านผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์ และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ จะได้รับการเยียวยา 5,000 บาท จึงให้ผู้ที่ไม่ได้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 ก่อนวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ให้รีบสมัครภายในวันที่ 30 กรกฏาคมนี้


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า กลุ่มมาตรา 39 และ 40 หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก็จะมีการเสนอตามขั้นตอนของ พ.ร.ก.เงินกู้ คาดว่าจะจ่ายเงินได้ไม่เกินเดือนสิงหาคม และหากมีการเพิ่มมาตรการล็อคดาวน์ ทางสำนักงานประกันสังคม มีระบบในการจัดการเยียวยาให้กับผู้ประกันตน


มาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เป็นเวลา 1 เดือนนั้น


ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือจากเดิม 4 สาขา ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ได้เพิ่มเติมเป็น 9 สาขา โดยเพิ่มเติมสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้


1. ลูกจ้างมาตรา 33 จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน ไม่เกิน 10,000 บาท


2. นายจ้างมาตรา 33 จ่าย 3,000 บาทต่อคน ลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน


3. ผู้ประกันตนมาตรา 39, 40 จ่ายรายละ 5,000 บาท


4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับ 5,000 บาท


5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามการเยียวยาลูกจ้างมาตรา 33 นายจ้างมาตรา 33 ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท





สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนในครั้งนี้ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล และตรวจสอบข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงนายจ้างในกิจการเจ้าของคนเดียวที่มีชื่อระบุตามทะเบียนพาณิชย์ ขอให้รีบดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนให้เรียบร้อย ส่วนนายจ้างที่มีสถานะนิติบุคคล สำนักประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลที่แจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคมไว้





ขั้นตอนการลงทะเบียน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมต้องเตรียมหลักฐานเข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ภายในเดือนนกรกฎาคม 2564 นี้ เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ประกันตน ม.39 ขณะที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท ขั้นตอน-วิธีการ ยื่นสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40 ดังนี้


1. สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในแต่ละพื้นที่ (สอบถามสายด่วน 1506)


2. สมัครผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th

    - เลือกแถบเมนูขั้นตอน “ลงทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40”

    - กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ ระบบจะส่ง SMS ยืนยัน มายังเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้

    - จะสมบูรณ์แล้วเสร็จเพื่อผู้สมัครชำระเงินสมทบเรียบร้อย


อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถเลือกจ่าย เงินสมทบ ได้ 3 ราคา

    ทางเลือกที่ 1 : 70 บาท ต่อเดือน สิทธิประโยชน์ : เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต

    ทางเลือกที่ 2 : 100 บาท ต่อเดือน สิทธิประโยชน์ : เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, ชราภาพ (รับบำเหน็จ)

    ทางเลือกที่ 3 : 300 บาท ต่อเดือน สิทธิประโยชน์ : เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, ชราภาพ (รับบำเหน็จ), สงเคราะห์บุตร


ส่วนประกันสังคมได้จ่ายเงินเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม เป็นเวลา 1 เดือน โดยจะดำเนินการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์กับบัญชีธนาคารที่ผูกกับเลขที่บัตรประชาชนเท่านั้น ตรวจสอบสิทธิ์ ได้ที่ https://www.sso.go.th/eform_news/





พร้อมเพย์ คืออะไร พร้อมเพย์เป็นระบบสำหรับบริการผูกบัญชีธนาคารเข้ากับเลขรหัสชุดบุคคล โดยสามารถเลือกได้ 2 วิธีคือ


1. หมายเลขโทรศัพท์


2 . หมายเลขบัตรประชาชน เพื่อสะดวกต่อการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน


อีกทั้งไม่เสียค่าธรรมเนียมหากโอนเงินข้ามเขต หรือ ธนาคาร ยกเว้นมียอดโอนเกิน 5,000 บาทต่อครั้ง อาจเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถรับสิทธิ์สวัสดิการจากรัฐได้อย่างรวดเร็ว


ลงทะเบียนพร้อมเพย์ต้องใช้อะไรบ้าง

1. บัญชีธนาคารที่ต้องการผูกบัญชี สามารถเป็นบัญชีออมทรัพย์ หรือ กระแสรายวัน


2. บัตรประชาชน 1 หมายเลข ต่อ 1 บัญชีเท่านั้น


3. เบอร์โทรศัพท์ 1 เบอร์ ผูกได้ 1 บัญชี และผูกได้สูงสุด 3 เบอร์ / 1 บัญชี


ขั้นตอนการสมัคร

แต่ละธนาคารต่างมีช่องทางบริการที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ผ่านสาขา, Internet Banking, Mobile Banking และ ATM เช่น ธนาคารกสิกร - K PLUS


การเยียวยาของภาคการศึกษา นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้


1. มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 ดังนี้

    -สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน

     -จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ -ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63


2. มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว) กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564


แนวทางการดำเนินการ

    -สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 / 50,001 - 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50

    -สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน


นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย


โฆษกรัฐบาล ยังเปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการทและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะได้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอนของ พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้ง จะมีการกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป



คุณอาจสนใจ

Related News