สังคม

ถอดบทเรียนแนวทางปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รอความร่วมมือจากธนาคารและผู้ให้บริการมือถือ

โดย parichat_p

5 พ.ย. 2565

407 views

ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยโพลิซออนไลน์ได้รับการแจ้งความในคดีออนไลน์มากถึง กว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 22,000 ล้านบาท โดยมูลค่าความเสียหายเกือบครึ่งมาจากคดีหลอกให้ลงทุนและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถอดบทเรียนจากกรณีคดีความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นแนวทางการตัดตอนขบวนการนี้เพื่อลดความเสียหายต่อประชาชน ซึ่งเบื้องต้นได้สร้างมาตรการเร่งด่วนออกมาแล้ว แต่ยังคงต้องรอความร่วมมือจากธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อเริ่มดำเนินการควบคู่ไปกับการปราบปราม


นี่เป็นเหตุการณ์จริงที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรเข้ามาอ้างตัวเป็นกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อติดตามการค้างชำระค่าปรับจากการกระทำผิดกฎจราจรของเจ้าของเบอร์ แม้เราจะปฎิเสธ แต่ปลายสายจะยืนยันว่ามีผู้นำบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ของเราไปใช้ขับขี่รถคันอื่น เพื่อให้เราหลงเชื่อ และต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมที่รอสวมรอยต่อ


ทันทีที่มิจฉาชีพรายนี้รับช่วงต่อ ก็จะทำทีข่มขู่ให้เหยื่อกลัว จนนำไปสู่การโอนเงินเพื่อชำระค่าปรับ และหลอกลวงเงินอีกจำนวนมากตามมา หากเหยื่อหลงเชื่อ


พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. ระบุว่า นี่เป็นพฤติกรรมโดยทั่วไปของคนร้ายที่จะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อข่มขู่ให้เหยื่อโอนเงิน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยตลอด เช่น การคืนภาษี การทำผิดกฎจราจร ไปจนกระทั่งการจัดส่งพัสดุ


ข้อมูลช่วงเดือนมีนาคม-ตุลาคม 2565 ของเว็บไซต์ไทยโพลิสออนไลน์ กว่า 128,000 เรื่อง พบว่ากว่า 114,786 เรื่องเป็นคดีออนไลน์ โดย 3 อันดับแรก คือ การหลอกซื้อของออนไลน์ / การทำงานออนไลน์ และการกู้เงินออนไลน์ มีความเสียหายรวมกันในหลัก 2 หมื่น 2 พันล้านบาท ส่วนคดีที่มีความเสียหายมากที่สุดก็หนีไม่พ้น คดีการหลอกให้กลัวแล้วโอนเงิน หรือ แกงค์คอลเซ็นเตอร์ และ หลอกเงินลงทุน ที่เฉลี่ย 50-70 ล้านบาทต่อวัน


คนร้ายจะลงมือจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาชายแดนติดไทย โดยใช้ซิมมือถือชนิดเติมเงิน เพื่อยากต่อการติดตาม โทรสุ่มไปเรื่อยๆ จนได้เหยื่อที่หลงเชื่อโอนเงินเข้ามายังบัญชีม้า ซึ่งยากต่อการติดตามกลับคืนเนื่องจากเป็นเครือข่ายนอกประเทศ


สอท.ได้ถอดบทเรียนจากรูปแบบการหลอกลวงจนพบแนวทางตัดตอนเพื่อลดความเสียหาย โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการตอบรับความร่วมมือจากธนาคารแหงประเทศไทย และ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้ต้องใช้มาตรการเร่งด่วนในเบื้องต้น เช่น การบังคับการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงค์กิ้งตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไปจะต้องใช้ซิมโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนแบบรายเดือนเท่านั้น ขณะเดียวกันค่ายมือถือก็ต้องจำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมต่อคนไม่เกิน 5 เลขหมาย และแจ้งเตือนทุกครั้งที่เบอร์แปลกปลอมโทรเข้าจากนอกประเทศ


ในสัปดาห์หน้านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะนำเสนอมาตรการเร่งด่วนนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อดำเนินการปรับใช้ ซึ่งประชาชนควรพึงระมัดระวังด้วยตัวเองในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแก๊งเหล่านี้ หากพบปัญหาก็สามารถแจ้งความได้ผ่านเว็บไซต์ไทยโพลิสต์ออนไลน์ หรือ สายด่วย 1441 ได้ทันที

คุณอาจสนใจ

Related News