สังคม

เผยสถิติผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรง กรมสุขภาพจิต ยืนยัน มีพ.ร.บ. ตำรวจส่งเข้าบำบัดได้ทันที

โดย chiwatthanai_t

24 ต.ค. 2565

132 views

ปัจจุบันภาวะทางสังคมต่างๆ ส่งผลให้เกิดผู้ป่วยทางจิตเวช ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งบ่อยครั้งที่มักเกิดเหตุความรุนแรงไม่คาดฝันจากผู้ป่วยเหล่านี้จนกระทบความปลอดภัยของผู้อื่น โดยขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่คอยคุ้มครองผู้ป่วยเหล่านี้และประชาชนทั่วไปอยู่ ซี่งกรมสุขภาพจิต ยืนยันสามารถส่งต่อผู้มีภาวะอันตรายหรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เข้าสู่ระบบได้ทันที หากมีภาวะเข้าข่ายต้องสงสัย


ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความปั่นป่วนให้กับประชาชนโดยรอบ โดยมีสาเหตุมาจากชายคนหนึ่งที่มักก่อเหตุลักษณะนี้บ่อยครั้ง จนหลายคนตั้งคำถามขึ้นว่า ชายคนนี้มีอาการทางจิตเวชหรือไม่ และบุคคลที่มีอาการทางจิตนั้นจะได้รับการดำเนินการต่อไปอย่างไร


ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2564 ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรงรวมแล้ว 3,815 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อเหตุรุนแรงซ้ำจำนวน 510 คน


ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต ระบุว่า แม้ผู้ป่วยทั้งหมดนี้ได้จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา แต่สิ่งที่สำคัญคือการช่วยกันสังเกต พฤติกรรมของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง


โดยตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา คือ (1) มีภาวะอันตราย (2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ผู้ที่พบเห็นสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจได้ทันที เพื่อนำบุคคลที่เข้าข่ายนั้นเข้าสถานพยายาลเพื่อวินิจฉัยตามมาตรา 27


ข้อมูลปี 2564 พบว่า มีข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต มีจำนวนทั้งสิ้น 269 คน โดยในสัดส่วนนี้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินการส่งต่อตาม พระราชบัญญัติสุขภาพจิต โดยยังไม่ได้ก่อคดีเพียง 59 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.93 เท่านั้น


อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการนำพระราชบัญญัติสุขภาพจิต มาใช้ยังสามารถที่จะเร่งขยายการดำเนินการให้มีความเข้าใจร่วมกันในทุกภาคส่วน โดยทุกฝ่ายต้องรับทราบถึงบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในสังคมต่อไป และครอบครัวเองก็มีส่วนรับผิดชอบในตัวผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ซึ่งจะมีกฎหมายลงโทษตามมาทั้งทางแพ่ง อาญา และพาณิชย์


หากประชาชนพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไป ที่แสดงอาการผิดปกติ หรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323

คุณอาจสนใจ

Related News