สังคม

หลายฝ่ายค้าน มติ กสทช. ควบรวม ทรู-ดีแทค ด้าน สอบ.จ่อร้องศาลไต่สวนฉุกเฉิน

โดย chiwatthanai_t

21 ต.ค. 2565

47 views

ทันทีที่มติของบอร์ดกสทช.รับทราบให้ทรูกับดีแทคสามารถควบรวมกิจการกันได้ ภายใต้เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ หลายภาคส่วนก็ได้ออกมาคัดค้านแนวทางดังกล่าว โดยวันนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน และ ให้ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่โดยมิชอบของ กสทช.ในครั้งนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการแถลงข่าวเพิ่มเติมใดๆ จากทางกสทช. มีเพียงความเห็นของ ดร.พิรงรอง รามสูต 1 ในบอร์ด ที่ลงมติไม่เห็นชอบกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ออกมาเปิดเผยเพียงคนเดียว


ตัวแทนผู้เข้าร่วมแถลงการณ์คัดค้าน กรณี กสทช.เห็นชอบการควบรวมกิจการทรูและดีแทค ยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยให้กับมติของ กสทช. ที่มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทโทรูเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูกับดีแทค แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขควบคุมตามมา แต่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคก็รู้สึกผิดหวังและไม่เห็นด้วยกับ บอร์ด กสทช.


เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันนับตั้งแต่วันนี้จะเริ่มกระบวนการยื่นฟ้องศาลปกครองขอไต่สวนฉุกเฉิน และ ขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พร้อมขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่


จนถึงตอนนี้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ยังคงไม่มีทีท่าจะออกมาชี้แจงหรือเปิดเผยรายละเอียดถึงกรณีนี้


มีเพียงศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต 1 ในบอร์ด กสทช. ที่อยู่ในเสียงข้างน้อย ซึ่งได้ออกมาเปิดเผยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบกับมติการควบรวมกิจการ โดยให้เหตุผลไว้ 7 ข้อ มีเนื้อหาหลัก คือ


การควบรวมของ ทรูกับดีแทค จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มลูกค้าเดิมเข้าด้วยกันจนมีส่วนแบ่งทางการตลาด 49.4% หรือเกือบครึ่งของตลาดเครือข่ายมือถือ และ จะทำให้เหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้น จนอาจเกิดการผูกขาดทางการแข่งขั ซึ่งขัดต่อรัฐธรรนูญ และ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม / ส่วนผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาชี้ชัดแล้วว่าจะเกิดผลกระทบเชิงลบตามมากับผู้บริโภคมากกว่าผลดี โดยข้อมูลประจักษ์ถึงประโยชน์ของสาธารณะยังไม่เพียงพอ ซึ่งที่สำคัญกลุ่มบริษัททรู มีความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจครบวงจร ที่ครอบครองตลาดสินค้าและบริการระดับประเทศ จึงมีโอกาสใช้ประโยชน์จากกรณีนี้สร้างการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ประกอบการรายอื่นได้


อย่างไรก็ตามมติเสียงข้างมากของบอร์ด กสทช.ในเบื้องต้นระบุว่า ไม่เป็นการถือครองกิจการประเภทเดียวกัน และชนะไปด้วยคะแนน 3:2 เสียงจากการใช้สิทธิโหวตซ่้ำของศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช.


ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่ามติครั้งนี้เป็นมติที่มีปัญหา เนื่องจากมีความคลุมเครือ จากมติที่ว่า รับทราบแต่มีเงื่อนไข


สำหรับการควบคุมภายใต้เงื่อนไขมติที่บอร์ด กสทช. ประกาศออกมานั้น ยังคงต้องรอความชัดเจนถึงกระบวนการและการบังคับใช้ เนื่องจากจนถึงตอนนี้ยังไม่มีฝั่งบอร์ดกสทช.คนใดให้ข้อมูลเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อสาธารณะ

คุณอาจสนใจ

Related News